xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องใส่ปุ๋ยแม่นยำในไร่อ้อย ฝีมือนักวิจัย มทร.ธัญบุรี คว้ารางวัลเหรียญทองระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อย ฝีมือนักวิจัย มทร.ธัญบุรี คว้ารางวัลเหรียญทองงานนวัตกรรม “INOVA-BUDI UZOR 2017” ประเทศโครเอเชีย

ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ นักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศบราซิล ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอ้อยเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ภาษีข้อตกลง WTO ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาล โดยในการเพิ่มผลผลิตการใส่ปุ๋ยเป็นสิ่งสำคัญ ในการใส่ปุ๋ยของเกษตรกร จะให้ปุ๋ยแบบโรยข้างต้นอ้อยโดยมีการกำหนดการให้ปุ๋ยแบบคงที่ต่อไร่ ในทุกๆ พื้นที่เท่ากันหมด ไม่สามารถปรับอัตราปุ๋ยได้ โดยในปัจจุบันมีงานวิจัยหลากหลายที่ทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น การออกแบบการให้ปุ๋ยติดกับรถไถเดินตามแบบให้ปุ๋ยได้โดยกำหนดที่เฟืองแบบ 3 จุด และได้มีการศึกษาเพื่อการใส่ปุ๋ยอ้อยแบบมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับเกษตรกร ในประเทศเยอรมนี ได้นำทฤษฎีการกำหนดการให้ปุ๋ยมาประยุกต์ใช้ในสวนปาล์ม และประเทศมาเลเซียได้นำการให้ปุ๋ยมาประยุกต์ใช้ RFID-BASED มาใช้เช่นเดียวกัน

คณะผู้วิจัยจึงได้นำหลักการดังกล่าว ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความแม่นยำทางการเกษตร เพื่อเข้ามาช่วยในระบบการจัดการและการให้ปุ๋ยโดยเป้าหมายหลัก คือ การบริหารจัดการการใส่ปุ๋ยโดยใช้ระบบการประมวลผลภาพ (Image Processing) การนำภาพมาประมวลผลหรือคิดคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงปริมาณ คือ ค่าเปอร์เซ็นต์ความเขียวของพืช จากนั้นนำข้อมูลเชิงปริมาณมาวิเคราะห์และสร้างเป็นระบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการประมวลผล และกำหนดปริมาณการให้ปุ๋ยอ้อย เพื่อเป็นการลดปริมาณปุ๋ยไม่ให้การสูญเสียและมีการลดต้นทุนในการผลิตอ้อย ผู้วิจัยจึงได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อยโดยเทคนิคประมวลผลภาพ

เครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อยโดยเทคนิคประมวลผลภาพ เป็นการประยุกต์ด้วยวิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมควบคุม วิศวกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมเครื่องกล และการถ่ายภาพเข้าด้วยกัน ในการออกแบบและสร้างเครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อย โดยเทคนิคประมวลผลภาพ ประกอบด้วย ชุดไถสิ่วเปิดหน้าดิน ชุดหยอดปุ๋ย ชุดควบคุมระดับปุ๋ย กล้องถ่ายภาพ ชุดประเมินผล โดยกล้องถ่ายภาพทรงพุ่มของพืชส่งมายังคอมพิวเตอร์ประมวลผล จากนั้นชุดประเมินผลจะส่งไปยังชุดควบคุมระดับปุ๋ยให้เหมาะต่อความต้องการในแต่ละต้นหรือพื้นที่นั้น ซึ่งกล้องจะติดอยู่ด้านหน้ารถแทรกเตอร์และชุดให้ปุ๋ยและชุดควบคุมระดับปุ๋ยจะติดตั้งกับด้านหลังรถแทรกเตอร์ ส่วนชุดคอมพิวเตอร์ประเมินผลจะอยู่ภายในแทรกเตอร์เพื่อให้คนปฏิบัติงานมองเห็นและใช้งานง่าย

นายสุริยา วรวงศ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ในฐานะผู้ช่วยวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีนวัตกรรมที่มุ่งเน้นความแม่นยำในการให้ปุ๋ยเม็ดโดยใช้เทคนิคจากการถ่ายภาพ ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะให้จำนวนปุ๋ยตามขนาดทรงพุ่มของพืชที่เกิดขึ้นจริง คือ ทรงพุ่มเล็กให้ปุ๋ยมาก ทรงพุ่มใหญ่ให้ปุ๋ยน้อย สรุปง่ายๆ คือ ให้ปริมาณปุ๋ยเท่ากับปริมาณความต้องการของพืชนั้นเอง โดยภาพถ่ายที่ถ่ายจะได้นำมาประมวลผลเพื่อหาขนาดทรงพุ่มของพืชและกำหนดปริมาณปุ๋ยจากการเขียนโปรแกรมควบคุมที่ได้มาจากการทดสอบและการทดลอง นอกเหนือจากนั้นตัวงานวิจัยออกแบบให้มีตัวควบคุมปริมาณปุ๋ยของปุ๋ยชนิดเม็ด โดยผ่านหัวจ่ายเม็ดปุ๋ยที่ควบคุมด้วยชุดไฮดรอลิกใช้จ่ายเม็ดปุ๋ยตามจำนวนที่ได้จากชุดประมวลผล และที่สำคัญไปกว่านั้นเครื่องใส่ปุ๋ยแบบแม่นยำในไร่อ้อยโดยเทคนิคการประมวลภาพสามารถนำไปติดตั้งกับรถแทรกเตอร์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการประมวลผล และกำหนดปริมาณการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับอ้อยในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดปริมาณปุ๋ยไม่ให้การสูญเสียและเป็นการลดต้นทุนในการผลิตอ้อยสดจึงได้มีการออกแบบและพัฒนาเครื่องใส่ปุ๋ยแบบควบคุมปริมาณให้ปุ๋ยสำหรับอ้อย

การใส่ปุ๋ยเม็ดนั้นมีความจำเป็นและใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีความสามารถในการทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือให้ปุ๋ยมากหรือน้อยกว่าความต้องการของพืชในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงในพื้นที่นั้นมีแร่ธาตุในดินไม่เท่ากันฉะนั้นการให้ปุ๋ยต้องมีความแม่นยำ ดังนั้น การใช้ในเชิงพาณิชย์นั้นมีโอกาสสูงที่จะมีความต้องการจำนวนมาก ซึ่งทางนักวิจัยได้ร่วมกับ บริษัท เอกชน ในไทย เพื่อพัฒนาและผลิตให้เข้าสู่ท้องตลาดต่อไป เกษตรกรท่านใดสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ โทร. 081-493-2489

สำหรับเครื่องใส่ปุ๋ยดังกล่าวคว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษ INOVA BEST CIVIL ENGINEERING INVENTION ในงาน INOVA-BUDI UZOR 2017 42nd International Invention Show ณ เมืองโอซีเยก ประเทศโครเอเชีย





กำลังโหลดความคิดเห็น