xs
xsm
sm
md
lg

“โครงการจีโนมฯ-4 นักวิจัยวัคซีนฮิบ” คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล แถลงผลผู้รับพระราชทานรางวัลประจำปี 2560 สาขาการแพทย์ คือ โครงการจีโนมมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ช่วยเกิดการต่อยอดวินิจฉัย รักษาโรคทางพันธุกรรม และสาขาการสาธารณสุข 4 ท่าน ร่วมกันผลักดันทั่วโลกได้ใช้วัคซีนฮิบ ช่วยลดการติดเชื้อและตายได้ 95 - 99%

วันนี้ (16 พ.ย.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 26 ประจำปี 2560 ว่า ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560 สาขาการแพทย์ คือ โครงการจีโนมมนุษย์ (The Human Genome Project) สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ในสังกัดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุข มี 4 ท่าน คือ ศ.พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นพ.จอห์น บี รอบบินส์ พญ.ราเชล ชเนียสัน สถาบันสุขภาพเด็กและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และ ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม มหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอบกินส์

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 ทั้งสิ้น 45 ราย จาก 27 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2558 - 2560 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2560 การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 ในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2561 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยในวันที่ 30 ม.ค. 2661 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย

สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ด้านการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐฯ

สำหรับผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ปี 2560 คือ โครงการจีโนมมนุษย์ สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ในสังกัดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่ศึกษาวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์และรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ตั้งแต่ปี 2533 ประสบความสำเร็จในปี 2543 โดยจัดเก็บข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์เป็นข้อมูลชีวภาพขนาดใหญ่เป็นคลังความรู้ในฐานข้อมูลสาธารณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเข้าถึงได้ จึงช่วยให้เข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์และอวัยวะต่างๆ กลไกการกลายพันธุ์ และกลไกการเกิดโรค

องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจีโนมมนุษย์ และเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรม ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์หลายด้าน ทั้งการวินิจฉัยโรคพันธุกรรมที่พบน้อยและถ่ายทอดในครอบครัว ไปถึงโรคที่พบบ่อยในประชากร เช่น โรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อ การตรวจคัดกรองในประชากรเพื่อค้นหาผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคตั้งแต่ระยะแรกๆ เป็นประโยชน์ในการควบคุม หรือป้องกันก่อนการดำเนินโรคจะแย่ลง อีกทั้งช่วยให้เกิดการพัฒนายารักษาโรคที่มีความแม่นยำ เหมาะสมสำหรับปัจเจกบุคคล และทำให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

สำหรับสาขาการสาธารณสุข ผู้ได้รับรางวัลทั้ง 4 คน มีบทบาทสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับการระบาด การก่อโรค และการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือ “ฮิบ” ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี มีอัตราตายสูง และหากรอดชีวิตอาจเกิดความพิการอย่างถาวรได้ ทำให้ค้นพบว่า วัคซีนโพลีแซคคาไรด์ ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 18 เดือน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดได้ และส่งเสริมให้วัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกต ได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ตั้งแต่ปี 2532 และเป็นวัคซีนพื้นฐานได้กว่า 190 ประเทศ จนอัตราการเกิดโรคและการตายจากเชื้อฮิบในเด็กเล็กลดลงกว่าร้อยละ 95 - 99 และป้องกันการเกิดโรคในเด็กได้กว่าร้อยล้านคนทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น