xs
xsm
sm
md
lg

อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รศ.พญ.นฤมล เด่นทรัพย์สุนทร
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

ยังคงมีเรื่องราวที่น่าสนใจ สำหรับลูกน้อยที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม คือ อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก เลือกอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสมจะมารับความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

อาหารตามวัยสำหรับทารก ซึ่งเดิมเคยเรียกกันว่า อาหารเสริมตามวัย อาหารทารก หรือภาษาอังกฤษ คือ complementary food หมายถึง อาหารอื่นที่ทารกได้รับเป็นมื้อนอกเหนือจากนมแม่ หรือนมผสม เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารครบถ้วน และพอเพียงสำหรับการเจริญเติบโต นอกจากนั้นอาหารตามวัยจะช่วยให้ทารกปรับตัวจากการกินอาหารเหลวเป็นอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว ให้คุ้นเคยกับรสชาติ และลักษณะอาหารที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาไปสู่การรับประทานอาหารแบบผู้ใหญ่ และเพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่เหมาะสม

ในการเลือกอาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก สามารถแบ่งตามอายุได้ ดังนี้
 ในช่วงที่ 6 เดือนแรก ทารกได้รับสารอาหารพอเพียงจากนมแม่ที่มีสุขภาพดี หรือนมดัดแปลงสำหรับทารกในกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ถ้าแม่มีสุขภาพดีและสามารถให้นมแม่แก่ลูกได้อย่างเต็มที่ และทารกเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์ นมแม่อย่างเดียวจะพอเพียงต่อการเจริญเติบโตของทารกจนถึงอายุประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นทารกจำเป็นต้องได้รับพลังงาน และสารอาหารเพิ่มเติมจากอาหารตามวัยสำหรับทารก เพื่อให้มีการเจริญเติบโตปกติ

 ช่วงอายุ 6 - 8 เดือน ทารกควรได้รับอาหารตามวัย 1 - 2 มื้อซึ่งประกอบด้วย ข้าวบด ไข่แดง ตับหมูตับไก่ หรือเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา ผักใบเขียวที่ไม่มีกลิ่นแรงต้มเปื่อยบดละเอียด เช่น ตำลึง เป็นต้น หรือสลับด้วยฟักทอง ใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย ประมาณครึ่งช้อนชา (น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันรำข้าว) บดส่วนประกอบทั้งหมดให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน

 ช่วงอายุ 9 - 11 เดือน ทารกควรได้รับอาหารตามวัย 2 - 3 มื้อ มีส่วนประกอบ คือ ข้าวบด ไข่ทั้งฟองแดงหรือตับหรือเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เลือด ผักใบเขียว เช่น ตำลึง ผักหวาน หรือสลับด้วยฟักทอง แครอท ใส่น้ำมันพืช บดส่วนประกอบทั้งหมดให้หยาบขึ้น

 ช่วงอายุ 1 - 2 ปี ให้เด็กกินอาหารคาวเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ ฝึกกินข้าวสวยหุงนิ่ม เนื้อสัตว์ ไข่ และผัก ถูกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้เคี้ยวง่าย น้ำมันพืชถูกนำมาใช้ในการประกอบอาหารด้วยวิธีผัดหรือทอด ไม่ต้องนำไปเหยาะในข้าวบด เช่น ข้าวผัด ไข่เจียว ปลาทอด ผัดผัก แกงจืดก๋วยเตี๋ยวผัด เป็นต้น

เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของระบบต่าง ๆ ของร่างกายทารก อาหารตามวัยสำหรับทารกควรถูกแนะนำให้เริ่มในทารกอายุ 6 เดือน ซึ่งเมื่อทารกกินส่วนประกอบและปริมาณของอาหารได้ครบ จะช่วยให้ทดแทนการกินนมได้ 1 มื้อ แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ทารกเริ่มมีแนวโน้มของการเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ (น้ำหนักตัวเพิ่มน้อยกว่าปกติ) หรือไม่สามารถให้นมแม่ได้เพียงพอ อาจให้อาหารตามวัยแก่ทารกก่อนอายุ 6 เดือนได้ แต่ไม่ให้ก่อนอายุ 4 เดือนนะคะ ซึ่งมีวิธีป้อนอาหาร ดังนี้

 ควรต้องเริ่มจากล้างมือของผู้ป้อนอาหาร และมือทารกหรือเด็กก่อนเสมอทุกครั้ง

 ผู้ป้อนควรป้อนอาหารทารกด้วยความนุ่มนวล คอยช่วยเหลือทารกที่โตพอจะกินเองได้ให้กินอาหารอย่างปลอดภัยจากการสำลัก และควรรับรู้ได้ไวต่อสัญญาณที่ทารกแสดงออกถึงความหิวและอิ่ม เพื่อจะได้ปรับปริมาณอาหารให้สอดคล้องกับความหิวและอิ่มของทารก

 ผู้ป้อนคอยกระตุ้นให้ทารกและเด็กกินอาหาร แต่ไม่ควรบังคับหรือป้อนนานเกินไป ควรใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในแต่ละมื้อ

 ควรให้ทารกและเด็กกินอาหารเป็นมื้อ ๆ อย่างเป็นเวลา ไม่ควรเล่นหรือดูโทรทัศน์ขณะขณะกิน ไม่ควรเดินตามป้อน การกินในขณะเล่นอาจทำให้ทารกและเด็กสำลักได้ ควรฝึกให้นั่งกินอาหารที่โต๊ะอาหารอย่างเป็นที่เป็นทาง เพื่อให้ทารกรับรู้ว่าเป็นเวลามื้ออาหารและเป็นหน้าที่หรือสิ่งที่ทารกและเด็กควรกระทำ

 ไม่ควรให้กินอาหารอื่นก่อนอาหารคาวภายใน 1 ชั่วโมงเพราะจะทำให้กินอาหารคาวได้น้อย
การให้อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะปรุงอาหารเองที่บ้านมากกว่าจะซื้อจากท้องตลาด อาหารที่นำมาปรุงควรมีลักษณะที่สดใหม่ มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย ไม่ควรใช้อาหารกระป๋องหรืออาหารที่ถนอมอาหารโดยใช้เกลือ เพราะจะทำให้ทารกได้รับเกลือมากเกินไป
*****

กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
#ขอเชิญบุคลากรทางการแพทย์ และผู้สนใจร่วมงาน “Siriraj Palliative Care Day 2017” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2560 เวลา 08.30 - 16.00 น. ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 ลงทะเบียนได้ทาง www.sirirajconference.com สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 9679 -80 (ภคภร ผดุงทรัพย์)

#ขอเชิญประชาชน และผู้สนใจฟังปาฐกถาเกียรติยศสุมาลี นิมมานนิตย์ ครั้งที่ 9 หัวข้อ “มรณธรรม ความหมายของชีวิต” ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 9679-80 (ภคภร ผดุงทรัพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น