นักวิชาการ คาด ช่วง “หมอยอร์น” หยุดรถ 25 วินาที อาจยังมึนงงกับแรงกระแทก “ถุงลมนิรภัย” ที่ระเบิดออกมากะทันหัน เป็นเรื่องปกติที่จะหยุดรถเพื่อตั้งสติให้หายมึนงง
จากกรณี นพ.ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์เขต 12 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขับรถชนเจ้าหน้าที่รักความปลอดภัย (รปภ.) ใน สธ. จนอาการสาหัส ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เนื่องจากมีการหยุดรถ 25 วินาที ก่อนเคลื่อนรถลากร่างผู้เจ็บไปอีกกว่า 20 เมตร โดย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูนิธิเมาไม่ขับ ระบุว่า การอ้างว่าถุงลมนิรภัยระเบิด ทำให้มองไม่เห็นไม่สามารถอ้างได้
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า การที่ถุงลมนิรภัยจะระเบิดออกมานั้น ต้องไปดูว่ารถยนต์คันดังกล่าวตั้งค่าเซนเซอร์ให้ถุงลมนิรภัยพองตัวออกมาเมื่อเกิดการชนที่ความเร็วเท่าใด ส่วนการที่ถุงลมนิรภัยพองตัวออกมานั้น จะบดบังวิสัยทัศน์การมองเห็นไปเลยหรือไม่ ประเด็นทั้งหมดนี้คงต้องถามผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ หรือวิศวกรรมเครื่องกล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถรุ่นใหม่น่าจะตั้งเซนเซอร์ตรวจจับแรงกระแทกในระดับต่ำ เพื่อให้ถุงลมนิรภัยทำงาน เพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
“ประเด็นหนึ่งที่น่าคิด คือ เมื่อเวลาถุงลมนิรภัยระเบิดใส่ จะกระแทกเข้าใสใบหน้าและหน้าอก ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ขับขี่จะอยู่ในอาการมึนงง เพราะจู่ๆ ก็มีอะไรระเบิดใส่เข้าหน้า ตรงนี้ก็ต้องคำนึงด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจังหวะที่มึนงงก็ต้องหยุดรถเพื่อพักสติ และเมื่อตั้งสติได้สิ่งปกติที่ทำคือการเปิดรถลงมาดูมากกว่าที่จะฝืนขับต่อไป” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลักการทำงานของถุงลมนิรภัยหรือแอร์แบ็กนั้น เว็บไซต์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า ถุงลมนิรภัยจะทำงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือ แรงกระแทก ซึ่งจะมีเซนเซอร์ตรวจจับการปะทะสปริงของถุงลมนิรภัยจะดันตัวขึ้น และถุงลมนิรภัยจะพองตัวอย่างรวดเร็ว และก๊าซจะอัดเข้าสู่ถุงลมอัตโนมัติ ซึ่งก๊าซที่ใช้คือก๊าซไนโตรเจน แต่การจะใช้งานได้ผลดีจะต้องใช้ควบคู่ไปกับเข็มขัดนิรภัย เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถบนต์จะเกิดการกระแทกอย่างรุนแรง ซึ่งถุงลมนิรภัยจะช่วยป้องกันบริเวณหน้าอกและศีรษะ