xs
xsm
sm
md
lg

สุขภาพเด็กพื้นที่กันดารยังแย่ น้ำไม่พอ-ส้วมเหม็น-หนอนพยาธิ-เตี้ย-ฟันผุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุขภาพเด็กพื้นที่กันดารยังแย่ พบยังเจอปัญหาเตี้ย ผอม ฟันผุ สุขาไม่ได้มาตรฐาน ติดโรคหนอนพยาธิ ไข้มาลาเรีย น้ำดื่มไม่เพียงพอ เดินหน้าทำแผนพัฒนาเด็กถิ่นทุรกันดารฉบับ 5 ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

วันนี้ (15 พ.ย.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง แนวทางการดำเนินงานการพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารภายใต้โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ปีงบประมาณ 2561 ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560 - 2569) ว่า จากผลการสำรวจภาวะสุขภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง ปี 2558 พบว่า เด็กอายุ 0 - 5 ปี น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ร้อยละ 25 เตี้ย
ร้อยละ 38 ผอม ร้อยละ 14 พัฒนาการเด็กสมวัย ร้อยละ 48 ฟันผุ ร้อยละ 26 เด็กอายุ 6 - 14 ปี เตี้ย ร้อยละ 28 ฟันผุ ร้อยละ 35 มีส้วมใช้ ร้อยละ 51 ที่ไม่มีส้วมใช้ ร้อยละ 80

นพ.วิชระ กล่าวว่า ขณะที่ผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ปี 2560 พบว่า เด็กประถมเตี้ยร้อยละ 11 สูงดีสมส่วน ร้อยละ 61 ฟันผุ ร้อยละ 30 น้ำดื่มไม่เพียงพอ ร้อยละ 20 ไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ร้อยละ 8 ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 72 ส้วมมีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 43 ไม่สะอาด ร้อยละ 20 นอกจากนี้ ยังพบหนอนพยาธิ ร้อยละ 7.5 เป็นพยาธิไส้เดือน ร้อยละ 60 พบเชื้อโรคไข้มาลาเรียในนักเรียน 39 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.31 ต่อพันประชากร มีอัตราพบเชื้อ ร้อยละ 0.13

ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม พบว่า สามเณรอ้วนและเริ่มอ้วนกว่า ร้อยละ 20 ส่วนคุณภาพน้ำบริโภคและสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียนพระปริยัติธรรมและวัดที่สามเณรจำวัดมีปัญหาคุณภาพน้ำ เนื่องจากขาดการดูแลระบบปรับปรุง ที่เหมาะสม ขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ตระหนักถึงโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ

“จากปัญหาดังกล่าว กรมอนามัยจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาโดยจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 ปี 2560 - 2569 ระยะ 10 ปี นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เป้าหมายดำเนินโครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดารตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 1 ที่จัดทำขึ้นครั้งแรกในปี 2534 และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดแผนฯ ฉบับที่ 4 ปี 2559” นพ.วิชระ กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวว่า แม้ว่าเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีปัญหาสุขภาพลดลงตามลำดับ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ห่างไกลจากสถานบริการสาธารณสุข เข้าถึงได้ยากลำบาก ในหลายพื้นจึงยังมีปัญหาสุขภาพ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 นี้ จึงเป็นการสานต่อการดำเนินงานที่ผ่านมา มีแนวทางการพัฒนา คือ เสริมสร้างสุขภาพของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยหญิงตั้งครรภ์ มารดาหลังคลอด และทารกหลังคลอดได้รับบริการที่มีคุณภาพ เด็กปฐมวัยทุกช่วงอายุได้รับการส่งเสริมด้านโภชนาการและมีพัฒนาการตามวัย เด็กและเยาวชนมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ขยายการพัฒนาสู่ชุมชนโดยให้เด็กและเยาวชนและสมาชิกในครอบครัวมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมของบ้านและชุมชนให้ถูกสุขลักษณะ และพัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้ โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างกว้างขวางทั้งในระดับภาค ระดับประเทศ และ นานาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น