xs
xsm
sm
md
lg

ขออย่ากลัวทำ “ซีพีอาร์” แล้วยิ่งทำให้ตาย ชี้ หัวใจวายเท่ากับตายอยู่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ขอประชาชนอย่ากลัวทำ “ซีพีอาร์” เพราะหวั่นทำคนหัวใจวายตาย ชี้ หากไม่ทำก็เท่ากับ “ตาย” อยู่แล้ว แต่หากทำซีพีอาร์ย่อมมีโอกาสรอดมากขึ้น ชี้ ไม่มีความรู้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่ยอมทำ เร่งเดินหน้าชง ศธ. บรรจุเป็นหลักสูตร ย้ำ แน่นหน้าอกสัญญาณเตือนก่อนเกิดเหตุสลด ให้รีบอมยาใต้ลิ้น

วันนี้ (13 พ.ย.) ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีประชาชนทั่วไปไม่กล้าทำการกู้ชีพ หรือ ซีพีอาร์ เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเสียชีวิต หรือ หมดโอกาสรอดชีวิต ว่า ตรงนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะความจริงแล้วเมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน คือ หัวใจหยุดเต้น และหยุดหายใจ ก็ถือว่าเป็นผู้ที่ตายแล้ว แต่หากช่วยทำการกู้ชีพก็ยังมีโอกาสรอดชีวิต ไม่ว่าจะทำถูกหรือผิดก็ดีกว่ารออยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าตายแน่นอนอยู่แล้ว

“ไม่ว่าจะทำการกู้ชีพถูกหรือผิดก็ขอให้ช่วยเหลือ เพราะกว่าจะรอรถกู้ชีพหรือรอให้เจอแพทย์ก็คงช่วยกู้ชีพไม่ทันแล้ว ซึ่งหากทำซีพีอาร์ถูกวิธีก็มีโอกาสรอด 20 - 30% ส่วนการที่คนไม่มีความรู้เรื่องการทำซีพีอาร์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่กล้าช่วยเหลือ จึงอยากให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำซีพีอาร์ให้มากขึ้น เพราะเมื่อมีคนทำซีพีอาร์เป็นมากๆ โอกาสในการช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ก็ย่อมมีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีหน่วยงานหลายแห่งที่เปิดสอน” ศ.นพ.สันต์ กล่าว

ศ.นพ.สันต์ กล่าวว่า สมาคมเวชศาสตร์ฯ ก็พยายามผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บรรจุเรื่องการกู้ชีพในหลักสูตรการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นวิชาลูกเสือ เนตรนารี หรือวิชาพลศึกษาก็ตาม ซึ่งหากฝึกสอนกันตั้งแต่เด็ก ก็จะช่วยให้มีความรู้ติดตัวไปตลอดชีวิตในการช่วยเหลือผู้อื่นได้ และเมื่อมีการเรียนการสอนมากๆ เด็กสมัยใหม่มีความรู้มากๆ ก็จะมีคนทำซีพีอาร์เป็นมากยิ่งขึ้น โอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่นก็มีมากขึ้นด้วย

ศ.นพ.สันต์ กล่าวว่า อาการที่ควรทำการกู้ชีพ หรือ ซีพีอาร์ ทันที คือ คนที่ฟุบลงไป เรียกแล้วไม่ตอบสนอง หรือมีอาการหายใจเฮือกๆ พะงาบๆ เหมือนปลา ให้รีบทำทันที โดย 1. ให้ตะโกนเรียกคนช่วยและ โทร. 1669 โดยควรใช้เวลา 1 นาที หาก โทร.ไม่สำเร็จให้คนอื่นช่วย โทร.และรีบทำซีพีอาร์ เพราะต้องรีบช่วยกู้ชีพภายใน 4 นาที มิเช่นนั้น สมองจะเสีย ถึงฟื้นขึ้นมาสำเร็จก็อาจกลายเป็นผักหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 2. การปั๊มหัวใจ ให้นั่งคุกเข่าข้างคนหยุดหายใจ แล้ววางส้นมือลงตรงกลางหน้าอกระดับราวนม โดยใช้ทั้งสองมือ แขนตั้งฉากกับลำตัวกับผู้ที่จะรับการกู้ชีพ ซึ่งจะต้องนอนบนพื้นแข็งเท่านั้น แล้วใช้น้ำหนักตัวกดผ่านแขนทั้งสองข้างลงไปให้กระดูกหน้าอกยุบลงไปประมาณ 5 - 6 เซนติเมตรในผู้ใหญ่ ส่วนเด็กให้ใช้นิ้วแทน และ 3. การปั๊มหน้าอกให้ใช้อัตราความเร็ว 100 - 120 ครั้งต่อนาที โดยให้นับจังหวะ 1 และ 2 และ 3 ไปจนถึง และ 10 จากนั้น ให้นับเป็นจังหวะปกติคือ 11 12 13 จนถึง 30 เนื่องจากหากนับเป็น 1 2 3 4 จะเร็วเกินไป โดยเมื่อครบ 30 ครั้งให้เป่าปาก 2 ครั้ง และกลับมาทำการปั๊มใหม่วนไปเรื่อยๆ จนกว่ารถกู้ชีพจะมาถึง หรือมีเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ (เออีดี) มาช่วย

ศ.นพ.สันต์ กล่าวว่า ส่วนการใช้ยาอมใต้ลิ้นเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลันนั้น ยังคงแนะนำให้พกไว้ประมาณ 2 เม็ด ติดกระเป๋าสตางค์ หรือซองโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากก่อนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลันจะมีอาการบ่งบอก คือ แน่นหน้าอก ซึ่งเป็นสัญญาณของหัวใจขาดเลือด ยกตัวอย่างคุณบุญธรรม นักฟุตบอลที่มาซ้อมที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้วเกิดอาการหัวใจวายขณะออกมานั่งพัก เพราะแน่นหน้าอก ช่วงจังหวะนั้นก็คือสัญญาณเตือนก่อนเกิด ซึ่งหากอมยาใต้ลิ้นก็จะช่วยป้องกันการเกิดหัวใจวายเฉียบพลันได้ เนื่องจากจะไปช่วยขยายหลอดเลือด โดยกลุ่มที่ควรพกยาไว้ คือ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว ต้องพกไว้ตลอด อย่างตอนอาบน้ำก็ควรพก เพราะเวลาถูตัวแรงๆ หรือเจอน้ำเย็นจัดก็สามารถเกิดได้เช่นกัน แต่เมื่อไม่ได้พกยามาด้วย กว่าจะออกมาหายาข้างนอกเจอก็ไม่ทัน

“ส่วนผู้ที่มีประวัติพันธุกรรม คือ มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โดยผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ถือว่ามีความเสี่ยง รวมถึงคนที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หากพกติดกระเป๋าไว้ก็ไม่เสียหาย หากเกิดอาการแน่นหน้าอกให้รีบนั่งลงและอมยา เพราะแม้จะไม่ได้เป็นหัวใจขาดเลือดจริงก็ไม่เป็นไร อมยาไปก่อนได้ดีกว่าเกิดเป็นขึ้นมาแล้วต้องมาทำซีพีอาร์ภายหลัง ซึ่งยานี้หากคนปกติอมเข้าไปจะทำให้เกิดเพียงเวียนหัว ปวดหัวเท่านั้น ไม่ได้มีผลอะไรร้ายแรง ดังนั้น เวลาอมจึงต้องนั่งเท่านั้น โดยยานี้ห้ามใช้ในผู้ที่รับประทานยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศที่ช่วยกระตุ้นการแข็งตัวเท่านั้น นอกจากนี้ คนธรรมดาก็ควรพกไว้ เพราะอาจเจอคนที่มีอาการแน่นหน้าอกได้ โดยขอให้สังเกตคนที่มีอาการผิดปกติ คือ เอามือกุมหน้าอกแล้วงอตัวลง นี่คือ อาการบ่งบอก ควรเข้าไปสอบถามและให้ความช่วยเหลือก่อนที่จะเกิดภาวะกล้ามเนิ้อหัวใจวายเฉียบพลัน ก็จะช่วยให้มีชีวิตรอดได้ ส่วนผู้ที่แน่นหน้าอกเองก็ขอให้บอกคนรอบข้างด้วย อย่าคิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไร” ศ.นพ.สันต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น