การกระตุ้นให้เด็กรักการอ่านไม่ใช่เรื่องยาก ควรเริ่มจากจุดเล็กๆ เริ่มต้นได้จากครอบครัว คนใกล้ตัว จะเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมกับการอ่าน แต่ควรยึดถือคติที่ว่า “อย่าบังคับให้เด็กอ่าน แต่จงทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น” เพราะหนังสือคือคลังความรู้
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การอ่านถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของคนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะหนังสือ คือ รากฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างคน ให้มีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สามารถนำประสบการณ์จากการอ่านมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมมือกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก จัดโครงการคัดสรร 100 เล่ม หนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน ปี 2560 ที่สอดรับกับแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย เพื่อจุดประกายให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงหนังสือดีมีประโยชน์ที่เด็กและเยาวชนควรอ่าน เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างแนวทางในการส่งเสริมพฤติกรรมรักการอ่านให้กับเด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสพัฒนาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของชาติต่อไป
สำหรับหนังสือ 100 เล่ม เพื่อเด็กและเยาวชน แบ่งออกเป็น 5 ช่วงวัย ดังนี้ เด็ก อายุต่ำกว่า ๅ ปี จำนวน 4 เล่ม อาทิ ฉันชอบอาบน้ำ, รู้ไหมหนูชอบทำอะไรกับพ่อ, ตั้งไข่ล้ม, รู้ไหมหนูชอบทำอะไรกับแม่
เด็ก อายุ 1-3 ปี จำนวน 15 เล่ม อาทิ กระจิบไปเที่ยวสวนผลไม้, กุ๊กไก่, จ้ำจี้ จ้ำจวด, ใคร ๆ ก็ยิ้ม, มามะ...มากอดกัน
เด็ก อายุ 4-6 ปี จำนวน 30 เล่ม อาทิเช่น มามะ...มากอดกัน, แกงวิเศษ ของป๊อกแป๊ก, กระต่ายกับพระจันทร์, กราบพระบาท, กุ๋งกิ๋งเที่ยวไทย, มามะ...มากอดกัน,แกงวิเศษ ของป๊อกแป๊ก, กระต่ายกับพระจันทร์,กราบพระบาท ,กุ๋งกิ๋งเที่ยวไทย, โต๋เต๋ ขอโทษ
สำหรับเยาวชน อายุ 7-11 ปี จำนวน 24 เล่ม อาทิ ก-ฮ เที่ยวงานวัด, ของขวัญแด่พระราชา, ข้าว, ความลับของโลก และเยาวชน อายุ 12-18 ปี มีจำนวน 27 เล่ม อาทิ ขวัญสงฆ์, คุณปู่แว่นตาแตก, จนกว่า เด็กปิดตา จะโต
“หนังสือสามารถสร้างความรัก ความผูกพันให้สมาชิกในครอบครัว ใกล้ชิดกัน ถ้าหากปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่เล็กๆ เชื่อว่าผลการเรียนออกมาดีด้วย”
นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ ประธานคัดสรรหนังสือดีสำหรับเยาวชนกล่าวว่า วัยนี้เป็น “วัยสะเทินน้ำ สะเทินบก” เป็นวัยที่จะเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจเท่านั้น และไม่ชอบการกดดัน จึงทำให้การคัดสรรหนังสือในช่วงนี้ค่อนข้างยาก เพราะถ้าเลือกบันเทิงคดีที่หนักเกินไป การเข้าถึงของเด็กบางกลุ่มก็จะยากและไม่อยากอ่าน โจทย์ในการคัดสรรครั้งนี้คือ หนังสือที่เลือกมานี้เด็กอ่านแล้วจะได้อะไร และหนังสือนี้เด็กทุกภาคต้องเข้าถึง มีการเรียนรู้ไปด้วยกัน และในหนังสือต้องมีความสนุกและเราต้องไม่ยัดเยียดความเป็นคนดีให้กับเด็ก เพราะเด็กในช่วงนี้อยากที่จะเรียนรู้ และทดลองในสิ่งใหม่ๆ เราจึงได้แค่มองดูอย่างห่วงใยและมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเยาวชน
ขณะที่ ลักษวีร์ เทพสิงห์ ในฐานะคุณแม่ ด.ช.สิริพงษ์ เลี้ยงบุญเลิศชัย หรือ น้องบอส นักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เล่าว่า ส่วนตัวมีนิสัยชอบอ่านหนังสือ พอรู้ว่าตั้งท้องก็อ่านหนังสือนิทาน ฟังเพลง แล้วพูดคุยกับลูกตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 1 เดือนจนกระทั่งคลอด แล้วทุกวันนี้ยังอ่านหนังสือนิทานและหนังสืออื่นๆ ร่วมกับน้องบอส
“การเล่านิทานให้น้องบอส จะเลือกหนังสือให้เหมาะกับวัยของเขา ส่วนเคล็ดลับการเล่านิทานของเธอนั้น ใช้วิธีการออกเสียงให้แตกต่างกันไป เพื่อให้น้องบอส สามารถแยกแยะได้ว่า 1 เสียง 1 ตัวละคร ตนจะเล่าเรื่องเดียวติดต่อกันหลายวัน พร้อมเปิดรูปภาพประกอบเล่าด้วย นอกจากนี้จากการสังเกตพฤติกรรมของน้องช่วงอายุกว่า 1 ขวบ เขาเปิดหนังสือนิทานได้ตรงตามที่แม่เล่า พออายุ 2 ขวบ เขาโตกว่าเด็กวัยเดียวกัน สามารถเล่านิทานได้แล้ว นอกจากนี้การเล่านิทาน จะสอดแทรกจริยธรรม การใช้ชีวิตประจำวันในสังคมควบคู่ไปด้วย อย่างสอนไม่ให้แย่งของกับเพื่อน สอนให้รู้จักแบ่งปั้น ให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม จากการส่งเสริม ปลูกฝัง กระตุ้นให้ลูกรักการอ่านมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าลูกสามารถเรียบเรียงความคิด คิดวิเคราะห์ได้ด้วย ส่งผลให้วันนี้ผลการเรียนออกมาในทิศทางที่ดี ”
ลักษวีร์ แสดงความคิดเห็นว่า ข้อดีของการเล่านิทานช่วยให้ลูกออกเสียงชัดเจน คำควบกล้ำ “ร” และ “ล” ที่สำคัญการอ่านหนังสือยิ่งอ่านเยอะและอ่านเป็นประจำทุกวัน ส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้และจดเนื้อหาตามที่ครูสอนได้ครบและรวดเร็วด้วย
…พ่อแม่ ผู้ปกครอง ท่านใดอยากปลูกฝังลูกหลานรักการอ่าน ลองเลือกหนังสือให้เหมาะกับวัยของเด็ก และอ่านร่วมกับเด็กๆ เชื่อว่าจะจุดประกายให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน