วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินฯ ขอสื่อออนไลน์ 2 ฉบับ แก้ข้อมูลยาอมใต้ลิ้น ย้ำไม่ช่วยป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน แต่ช่วยคลายอาการปวด ชี้ ต้องทำซีพีอาร์และตาม 1669 ก่อนเสมอ พร้อมแนะวิธีการทำซีพีอาร์ที่ถูกต้อง
วานนี้ (11 พ.ย.) เฟซบุ๊กเพจ “วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย - วฉท.” ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีสื่อออนไลน์ 2 ฉบับ คือ ข่าวสด และ โพสต์ทูเดย์ ได้มีการตัดทอนคำพูดบางส่วนเกี่ยวกับการกู้ชีพหรือการทำซีพีอาร์ และประเด็นยาอมใต้ลิ้น ว่า ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของคุณโจ บอยสเก๊าท์ หรือ นายธนัท ฉิมท้วม
ทั้งนี้ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ การที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวนั้นต้องได้รับการปั๊มหัวใจอย่างเร็วที่สุด หรือกดตรงกลางหน้าอก และ โทร. 1669 เพื่อได้รับการช็อกโดยเครื่องช็อกไฟฟ้า (AED) อย่างถูกต้อง ซึ่งหากมีเครื่อง AED ใกล้ตัวสามารถใช้ได้เลย เนื่องจากเป็นเครื่องอัตโนมัติ บุคคลาธรรมดาก็ใช้ได้ โดยการปั๊มหัวใจหรือเอามือประสานกดกลางหน้าอก 100 - 120 ครั้งต่อนาที และการ โทร.1669 เพื่อหาเครื่อง AED ใกล้ตัวเป็นสองอย่างแรกที่ท่านต้องทำเสมอ
อย่างไรก็ตาม จากเนื้อข่าวออนไลน์ 2 ฉบับ ซึ่งมีการตัดทอนคำพูดบางส่วน ทางวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินขออนุญาตให้ความรู้เพิ่มเติม ว่า การอมยาใต้ลิ้นนั้นไม่ช่วยให้ป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ เพียงแต่เป็นยาให้ในผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบเพื่อคลายอาการปวด โดยยาจะออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหัวใจชั่วคราวทำให้คลายปวด
การที่หัวใจหยุดเต้นฉับพลันนั้น ต้องทำการปั๊มหัวใจและ โทร.เรียก 1669 เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือและได้ AED หรือเกิดการช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าในเวลาเร็วที่สุด
บทเรียนการเสียชีวิตจากไปของหนึ่งในบุคคลที่ถือเป็นศิลปินในดวงใจใครๆ หลายๆ คน หวังว่าจะทำให้เราได้เรียนรู้การปั๊มหัวใจและเรียน 1669 ได้ดีขึ้น
ทางวิทยาลัยขอรบกวนให้ทาง โพสต์ทูเดย์ และ Khaosod - ข่าวสด แก้ข่าวให้ถูกต้อง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในภายภาคหน้า
นอกจากนี้ ทางเพจวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ยังได้เผยแพร่คลิปวิดีโอตัวอย่างการปั๊มหัวใจ ที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้ โดยลำดับแรกให้ตบไปที่ไหล่ เรียกผู้ป่วยเบาๆ เผื่อว่า ยังมีสติอยู่หรือไม่ หากคนไข้ไม่รู้สึกตัวให้คนโดยรอบช่วยในการ โทร. 1669
จากนั้นให้เปิดเสื้อบริเวณหน้าอกของผู้ป่วย และดำเนินการฟื้นคืนชีพ หรือ ซีพีอาร์ โดยการทำให้นั่งคุกเข่าข้างลำตัวผู้ป่วย แยกขาออกจากกันเล็กน้อย ตัวตั้งตรง วางมือจากหัวนมข้างหนึ่งลากมายังกระดูกแกนกลางหน้าอก ใช้ส้นมือวางตรงกระดูกแกนกลางหน้าอก อีกมือหนึ่งวางประกบ จากนั้นโน้มตัวมาข้างหน้า โดยไหล่ ศอก และข้อมือต้องเป็นแนวตรงกับผู้ป่วย
ขณะปั๊มให้ใช้สะโพกเป็นจุดหมุน โดยกดลงไปตรงๆ แขนตึง ปั๊มประมาณ 30 ครั้ง จะมาเปิดทางเดินหายใจและช่วยหายใจ โดยการเมาธ์ทูเมาธ์ ทำได้โดยการเชยคางผู้ป่วย บีบจมูก ครอบปากของเราไปกับปากคนไข้เต็มๆ แล้วเป่า 2 ครั้ง ถือเป็น 1 รอบ แล้วกลับมาปั๊มอีก 30 ครั้ง ด้วยอัตราเร็ว 100 - 120 ครั้งต่อนาที แล้วเป่าปาก
หากเครื่อง AED มาถึงให้เปิดเครื่อง โดยให้นำแผ่นแปะมาติดบริเวณหน้าอกผู้ป่วยตามเสียงคำแนะนำของเครื่อง โดยระหว่างเครื่องกำลังวิเคราะห์ผู้ป่วยยังสามารถปั๊มหน้าอกผู้ป่วยต่อได้จนกว่าเครื่องพร้อม เมื่อครั้งบอกให้ช็อกก็กดปุ่มช็อก จากนั้นให้กลับมาปั๊มหน้าอกต่อ โดยอาจเปลี่ยนให้ผู้ช่วยคนใหม่มาปั๊มแทน เนื่องจากคนแรกที่ปั๊มอาจหมดแรง
https://youtu.be/x-kJvjln44I
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเรียนรู้การปั๊มหัวใจได้จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เช่น CPR ในสวน และ TRC (Thai Resuscitation Council)