xs
xsm
sm
md
lg

บัตรทองจัด 3 ชุดสิทธิประโยชน์ ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายถึงที่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. จัด 3 ชุดสิทธิประโยชน์ “ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ที่บ้าน ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและครอบครัว เผย ปี 59 ให้บริการครบถ้วน 399 แห่ง มีผู้ป่วยได้รับการดูแลกว่า 8 พันคน ส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็งต่างๆ ย้ำช่วยลดภาระทางการเงินของครอบครัว ชูทีมหมอครอบครัวร่วมดำเนินการให้สำเร็จได้

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และ จิตวิญญาณ ให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจนถึงวาระสุดท้าย สปสช.จึงได้เริ่มสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 ให้เกิดการดูแลที่บ้านสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินของครอบครัวที่ต้องมาดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยบริการประจำที่ให้บริการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง จำนวน 399 แห่ง โดยจัดบริการร่วมกันกับหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมแล้วกว่า 4,000 แห่ง ซึ่งจากข้อมูลในปี 2557 - 2559 พบว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยที่รับบริการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยปี 2559 มีผู้ป่วยได้รับบริการรวม 8,209 คน หรือ 32,810 ครั้ง จากปี 2557 มีผู้ป่วยรับบริการ 5,820 คน หรือ 22,077 ครั้ง ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อดูแลเพิ่มขึ้น จากปี 2557 จำนวน 30.64 ล้านบาท ในปี 2559 เพิ่มเป็น 60.39 ล้านบาท โดยกลุ่มผู้ป่วยที่รับการดูแลระยะสุดท้ายแบบประคับประคองอันดับต้นๆ ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งท่อน้ำดี ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม ไตวายเรื้อรัง มะเร็งลำไส้ใหญ่ และหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ รพ.ที่มีจำนวนผู้ป่วยระยะสุดท้ายรับการดูแลแบบประคับประคอง 5 อันดับแรก ได้แก่ รพ.เขื่องใน, รพ.ลี้, รพ.เสลภูมิ, รพ.ยางตลาด และ รพ.สันป่าตอง 

นพ.ชูชัย กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง สปสช. ได้กำหนด 3 ชุดสิทธิประโยชน์หลัก เพื่อเบิกจ่ายที่ครอบคลุมผู้ป่วยทุกกลุ่มโรคที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามหลักเกณฑ์ที่กรมการแพทย์กำหนด คือ 1. ยามอร์ฟีน เพื่อบรรเทาอาการปวด 2. ชุดทำความสะอาด และ 3.ออกซิเจน พร้อมอุปกรณ์ร่วมกับการติดตามอาการตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีอย่างเหมาะสม ส่วนการประเมินสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ดร.สุพล ลิมวัฒนานนท์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการวิจัยพบว่า การพัฒนาระบบเยี่ยมบ้านและจัดอุปกรณ์ราคาแพงให้ผู้ป่วยยืม เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องให้ยา เตียงผู้ป่วย และเครื่องดูดเสมหะ เป็นต้นแล้ว จากข้อมูลปี 2557 - 2558 พบว่า จำนวนครั้งการเข้านอน รพ. ลดลงจาก 9 ครั้ง ก่อนการเยี่ยมบ้าน เป็น 6 - 8 ครั้ง ขณะที่ค่าเบิกจ่ายการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยลดลง น่าจะส่งผลในการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการเดินทางไปโรงพยาบาลของครัวเรือนได้ ชี้ให้เห็นถึงผลบวกและทิศทางการผลักดันนโยบายนี้ในอนาคต

“ความสำเร๋จของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จัดหาเครื่องผลิตออกซิเจน หรือเครื่องให้ยา หรือเตียงผู้ป่วย และชุมชนที่จะร่วมกันดูแลให้ผู้ป่วยไปสู่สุคติภพภายใต้อ้อมกอดแห่งความรัก เกื้อกูล พร้อมการผลักดันจากนโยบายที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายคลินิกหมอครอบครัว แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กองทุนระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เป็นต้น” นพ.ชูชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น