xs
xsm
sm
md
lg

หายใจเฮือก-พะงาบ หนึ่งอาการหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำ CPR

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก https://healthscienceconsulting.com/product/heartsaver-cpr-aed/
เลขาฯ สพฉ. เสียใจ “โจ บอยสเก๊าท์” เสียชีวิต เตือนพบคนหยุดหายใจ หายใจเฮือก ให้รีบแจ้ง 1669 แล้วรีบทำ CPR ระบุหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แต่สมองยังสั่งการให้ร่างกายพยายามหายใจ ทำให้มีอาการหายใจพะงาบ ทำเข้าใจผิดว่ายังปกติ จนทำ CPR ช้า

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณี โจ บอยสเก๊าท์ นักร้องชื่อดัง มีอาการหมดสติขณะกำลังร้องเพลงที่ผับแห่งหนึ่ง เป็นเหตุให้เสียชีวิต ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนๆ ของโจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจเป็นภัยเงียบที่อาจนำมาสู่อาการภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความเสี่ยงได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ในผู้ป่วยทั่วไปก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจจะมีภาวะเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดภาวะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว แต่สมองยังคงสั่งการให้ร่างกายพยายามหายใจ ที่เรียกว่า Gasping breathing หรือ การหายใจเฮือก ซึ่งผู้ป่วยจะหายใจแบบอ้าปากพะงาบ ทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิดว่ายังหายใจเป็นปกติ และทำให้การตัดสินใจช่วยเหลือด้วยการกดหน้าอก CPR นั้นช้าลง

“จากการวิจัยทางการแพทย์นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการกดหน้าอกช่วยภายในเวลา 4 นาที หลังจากที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จึงจะสามารถเพิ่มโอกาสรอด ขอแนะนำว่า ขั้นตอนของการช่วยชีวิตสำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อพบผู้หมดสติให้ปลุกเรียก ถ้าไม่ตอบสนอง ให้สังเกตการหายใจ หากไม่หายใจ หรือหายใจเป็นเฮือก หรือสงสัยว่าไม่หายใจ ให้ โทร.1669 เพื่อเรียกหน่วยกู้ชีพ จากนั้นให้เริ่มทำการกดหน้าอก CPR โดยประสานมือตรงกี่งกลางหน้าอกระหว่างหัวนมสองข้าง กดลึก 5 - 6 เซนติเมตร กดต่อเนื่องด้วยจังหวะ 100 - 120 ครั้งต่อนาที จนกว่าหน่วยกู้ชีพมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนอง และหากสถานที่นั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ให้ร้องขอเพื่อนำมาใช้โดยทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ขณะรอคอยชุดปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จะมาถึง ซึ่งในกรณีลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หากได้รับการนำส่งยัง รพ.รัฐ หรือเอกชน ที่อยู่ใกล้ก็สามารถใช้บริการตามโครงการฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP ได้” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คลิปวิดีโอขณะช่วยชีวิต โจ บอยสเก๊าท์ ด้วยวิธี CPR มีการพูดกันว่าอาจไม่ถูกต้อง ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ดูคลิปวิดีโอดังกล่าว แต่ไม่อยากตำหนิ เพราะทุกคนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และเชื่อว่า ผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว มีความตั้งใจในการช่วยเหลือเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญหากเกิดเหตุฉุกเฉินทุกกรณี หรือในกรณีผู้ป่วยที่ล้มลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีอาการกระตุกหรือหายใจเฮือก อาจไม่ใช่อาการชักเสมอไป เพื่อความมั่นใจให้รีบแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการช่วยชีวิตอย่างถูกต้อง โดยให้เปิดสปีกเกอร์โฟน และปฏิบัติตาม ระหว่างรอเจ้าหน้าที่และทีมแพทย์ฉุกเฉินเดินทางมา

“ขอย้ำว่า หลักการช่วยชีวิตเบื้องต้นด้วยวิธี CPR ทำได้ด้วยการปั๊มหัวใจอย่างถูกต้องตรงบริเวณกลางหน้าอกตรงราวนม กดลงไปลึกประมาณ 2 นิ้ว ด้วยความเร็วเฉลี่ย 100 - 120 ครั้งต่อนาที โดยไม่จำเป็นต้องผายปอด แต่ระหว่างนั้นอย่าลืม โทร. 1669” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น