สปส. แจงเหตุผลที่แท้จริงปรับเพดานจ่ายเงินสมทบจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท ย้ำ เพื่อให้กองทุนมีความหมายในการช่วยผู้ประกันตน ไม่ใช่ความมั่นคงของกองทุน เผย ประกันสังคมทั่วโลกปรับเพดานจ่ายสมทบทุกปี ชี้ หากไทยปรับทุกปีช่วยวัยเกษียณได้รับเงินบำนาญขั้นต่ำที่ 9,000 บาท พร้อมเสนอทางออกช่วยผู้ประกันตนเองค่าจ้างน้อย แต่ต้องจ่ายสมทบที่ฐาน 7,800 บาท
วันนี้ (10 พ.ย.) นายณภูมิ สุวรรณภูมิ นักวิชาการสถิติ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะนักคณิตศาสตร์ประกันภัย กล่าวถึงกรณีภาคประชาสังคมตั้งคำถามถึงการขยายเพดานเงินเดือนจ่ายเงินสมทบประกันสังคมจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุดจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท และผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกันตนเองมาตรา 39 ว่า ก่อนอื่นขอให้ทำความเข้าใจก่อน ว่า การขยายเพดานเงินเดือนในการจ่ายเงินสมทบ ไม่ใช่เป็นเรื่องความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม เพราะแม้จะจ่ายเงินสมทบเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้มีผลในเรื่องการยืดอายุกองทุนแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางสังคม คือ เพื่อให้กองทุนมีความหมายต่อชีวิตของผู้ประกันตนและสามารถอยู่ในการดูแลลูกหลานของผู้ประกันตนต่อไปได้
"กองทุนประกันสังคมตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 กำหนดเพดานเงินเดือนสูงสุดในการจ่ายเงินสมทบ คือ 15,000 บาท ซึ่งในขณะนั้นถือว่าสูงมาก เพราะเงินเดือนเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 3 - 4 พันบาท โดยได้รับสิทธิเงินช่วยเหลือว่างงานอยู่ที่ 7,500 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าเงินเดือนเฉลี่ย ดังนั้น กองทุนจึงมีความหมาย เป็นความมั่นคงทางสังคม แต่ผ่านมา 20 กว่าปี กองทุนไม่ได้มีการปรับเพดานเงินเดือนเลย ทำให้มูลค่าของกองทุนลดลงทุกปี โดยเงินเดือนเฉลี่ยผู้ประกันตนปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาทแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อย่างเงินช่วยเหลือว่างงาน 7,500 บาท จะมีความหมายอะไร เพราะน้อยกว่าเงินเดือนมาก จึงต้องมีการปรับเพดานเงินเดือนในการจ่ายเงินสมทบขึ้น เพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้น และเป็นกองทุนที่มีความหมายต่อผู้ประกันตน ในการช่วยเหลือผู้ประกันตน” นายณภูมิ กล่าว
นายณภูมิ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือ ประกันสังคมทั่วโลกมีการปรับเพดานเงินเดือนจ่ายเงินสมทบทุกปี โดยพิจารณาจากเงินเดือนเฉลี่ยของผู้ประกันตน ทั้งระบบเป็นเท่าไร แล้วจะเพิ่มเพดานเงินสมทบเป็นเท่าไร เช่น เงินเดือนเฉลี่ยผู้ประกันตนทั้งระบบอยู่ที่ 10,000 บาท แต่พอคำนวณใหม่แล้วกลายเป็นเฉลี่ย 10,500 บาท แสดงว่า เพิ่มขึ้น 5% ก็มาขยายเพดานเงินเดือนจ่ายสทบอีก 5% เป็นต้น แต่ประเทศไทยไม่เคยปรับเลย แต่ก็มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ผู้ประกันตนเรื่อยมา ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเพดานเงินเดือนจ่ายเงินสมทบ ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อกองทุน แต่ทำเพื่อให้กองทุนมีความหมายต่อผู้ประกันตน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนที่มีเงินเดือนต่ำด้วย เพราะหากไม่มีการขยายเพดานขึ้นไปตามเงินเดือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็เท่ากับว่า คนเงินเดือนน้อยจ่ายสูง แต่คนเงินเดือนสูงจ่ายต่ำกว่า ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการปรับเพดานเงินเดือนมาโดยตลอดเช่นประเทศอื่น จะส่งผลให้การจ่ายเงินบำนาญของผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเพดานสูงสุด ในระยะเวลาขั้นต่ำสุด คือ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากสมทบนานกว่านี้ก็จะได้เงินที่สูงมากกว่านี้เช่นกัน
นายณภูมิ กล่าวว่า ส่วนการปรับฐานค่าจ้างจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 4,800 บาท เป็น 7,800 บาท โดยคิดอยู่ที่ 9% ทำให้การจ่ายเงินสมทบจาก 432 บาท เป็น 702 บาท เท่ากันทุกคน ซึ่งมีข้อกังวลว่าผู้ประกันตนเองอาจจ่ายไม่ไหว เพราะค่าจ้างน้อยและอาจทำให้หลุดจากระบบนั้น หากพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของประเทศอื่น ทางแก้ไขคือมีการเชื่อมโยงข้อมูลเงินเดือนจริงของผู้ประกันตนเองว่าเงินเดือนจริงเป็นเท่าไร โดยประเทศไทยหากระบบดีพออาจเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร หรืออาจให้คนที่เงินเดือนน้อยจริงๆ กรอกแบบฟอร์มกับทางประกันสังคม และอาจมีการตรวจสอบว่าเงินเดือนน้อยจริงหรือไม่ ก็เพื่อยกเว้นไม่ต้องใช้ฐานค่าจ้าง 7,800 บาท โดยให้จ่ายเงินสมทบที่ 9% ตามค่าจ้างจริง