xs
xsm
sm
md
lg

แก้ “แรงงานต่างด้าว” เอาใจมะกัน ช่วย “บิ๊กตู่” พบ “ทรัมป์” แต่ยังเกาไม่ถูกที่คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ซัดรัฐแก้ “แรงงานต่างด้าว” เอาใจมะกัน ช่วย “บิ๊กตู่” ได้เข้าพบ “ทรัมป์” แต่นายจ้าง - เอเยนต์กลับซวยแทน ชี้ ยังเกาไม่ถูกที่คัน เหตุระบบเอ็มโอยูไม่ช่วยแก้ต่างด้าวผิด กม. ที่มีอยู่ เสนอมาตรการระยะยาว 2 เรื่อง ด้านเครือข่ายแอลพีเอ็นจี้แก้บทลงโทษให้สมดุลก่อนบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 61 เชื่อ สแกนนิ้วมือทำให้ดีได้ ยังไม่ต้องใช้ม่านตา

วันนี้ (9 พ.ย.) ที่ห้องประชุมศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวในงานประชุมสัมมนา “การมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรภาคธุรกิจ ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ค้ามนุษย์ และการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” ว่า บทลงโทษตามกฎหมายหากอ่อนเกินไปคนก็ไม่เกรงกลัว หากมากเกินไปก็อาจเกิดผลกระทบได้ เช่นเดียวกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ใน 4 มาตรา ที่มีบทลงโทษสูงทั้ง โดยเฉพาะส่วนของนายจ้าง ที่โทษปรับถึง 8 แสนบาท ส่งผลให้ คสช.มีคำสั่งให้ขยายวันบังคับใช้ออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค. 2561 โดยก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ควรมีการปรับปรุงทั้ง 4 มาตรานี้ก่อน

“บทลงโทษด้านแรงงานควรอยู่ในระดับกลางๆ ยกตัวอย่าง การเข้าเมืองผิดกฎหมาย โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือผู้ที่ให้ที่พักกับบุคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย โทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งความสัมพันธ์อัตราโทษจำคุกต่อการปรับจะอยู่ที่ประมาณปีละ 10,000 บาท ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้ควบคุมดูแล เช่น นายจ้าง จะมีโทษมากกว่า ดังนั้น การที่บทลงโทษไม่จำคุกนายจ้าง จำคุกแต่ลูกจ้าง แล้วมาปรับนายจ้างแพงๆ ถึง 8 แสนบาท จึงเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ ต้องปรับปรุงให้มีความสมดุลก่อนประกาศใช้อีกครั้ง มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาอีก” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลนั้น ทุกวันนี้ยังเป็นปัญหา เพราะกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดำเนินการเอง ทำให้ข้อมูลไม่เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ หากแรงงานต่างด้าวมาสวมบัตรเป็นคนไทย สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ออกบัตรประชาชนก็ไม่สามารถรู้ข้อมูลได้เลย จึงมองว่าควรเป็นหน่วยงานกลางหน่วยงานเดียวคือ สำนักบริหารการทะเบียน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าถึงได้ในระดับต่างๆ ตามที่สำนักฯ ตั้งระบบไว้ ส่วนที่ว่าแรงงานประมงทำงานหนักจนตรวจสอบด้วยลายนิ้วมือไม่ได้ ต้องสแกนม่านตาแทนนั้น มองว่า จริงๆ การเก็บลายนิ้วมือสามารถทำได้ทุกนิ้ว รวมไปถึงนิ้วเท้า จึงควรใช้ระบบการตรวจสอบเดิมที่มีอยู่แล้วทำให้ดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้การสแกนม่านตา ที่ต้องเสียเวลายาวนานในการเซตระบบใหม่ และ 10 ปี ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถคุมได้หรือไม่

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาทิปรีพอร์ต เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเคยติดอยู่ในระดับเทียร์ 3 ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐอเมริกา ที่เป็น 1 ใน 3 ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทยและเป็นประเทศเดียวที่ไทยได้ดุลการค้าจะลดบทบาทการช่วยเหลือประเทศที่ติดเทียร์ 3 ลง ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องเอาใจประเทศคู่ค้าสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ จากมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ออกมานั้น ก็ถือว่าเอาใจสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จ และสามารถขึ้นมาอยู่ในระดับเทียร์ 2 เฝ้าระวังได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสามารถเข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ทำเนียบขาวได้ในรอบ 10 ปี แต่ผลกระทบกลับตกอยู่ที่ประชาชนอย่างนายจ้าง เอเยนต์ เพราะก้ำกึ่งว่าจะเป็นการค้าทาสหรือไม่

“ส่วนการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว รัฐบาลยังเดินไปไม่ถูกทาง เพราะยังยึดติดกับระบบการนำเข้าแบบเอ็มมโอยู ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นมาตรการในการกวักมือเรียกแรงงานต่างด้าวรายใหม่ให้เข้ามา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว เรียกว่า เกาไม่ถูกที่คัน อย่างสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการนิรโทษกรรมโดยให้ทำบัตรสีชมพู แต่ไม่ได้มีมาตรการต่อเนื่อง เพราะเปลี่ยนรัฐบาลก่อน โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้แตะเรื่องนี้ จนมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดำเนินการคล้ายกันคือต่ออายุการทำบัตรกลุ่มชมพู หรือที่เปิดลงทะเบียนกลุ่มจับคู่ ก็เป็นมาตรการชั่วคราว หากทำไม่ทันก็ไปเข้าระบบเอ็มโอยู สุดท้ายก็จะวนเวียนอยู่เช่นนี้ เป็นบัตรชมพูบ้าง เข้าเอ็มโอยูบ้าง มาตรการระยะยาวตรงนี้ต้องมาร่วมกันคิดใหม่” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอคือ 1. แทนที่จะพิสูจน์สัญชาติต่างด้าวรายบุคคล ควรเปิดให้มาลงทะเบียนแบบเป็นกลุ่ม เช่น พม่าได้จำนวน 5 แสนคน แล้วค่อยส่งรายชื่อทั้งหมดกลับไปยังประเทศต้นทางว่าเป็นคนประเทศตัวเองหรือไม่ หากสมมติมี 5 หมื่นคนที่ไม่ใช่ รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการผลักดันออกนอกประเทศเพื่อไปพิสูจน์ตัวตน ซึ่งก็จะดำเนินการได้รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง หากประเทศต้นทางยืนยันก็ออกใบอนุญาตทำงานทีเดียวไปเลย และ 2. ให้แรงงานต่างด้าวทั้งหมดเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ยังเป็นอยู่ สามารถตรวจสอบได้ เพราะบัตรสีชมพูถือเป็นข้อมูลตาย แรงงานต่างด้าวบางส่วนก็เอาไว้แค่สวม เพราะขึ้นทะเบียนใบอนุญาตจริงยังไม่ได้ หากทำทั้งหมดนี้มองว่า อาจไม่ใช่แค่ขึ้นเป็นเทียร์ 2 แต่อาจขึ้นไปถึงเทียร์ 1 เลยก็ได้ นอกจากนี้ ลูกหลานแรงงานต่างด้าวที่เกิดจากกลุ่มที่ได้บัตรชั่วคราวหรือไม่ถูกกฎหมาย รัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลด้วย เพราะเด็กกลับบ้านเกิดยาก ต้องมีการวางแผนหารือกันด้วย โดยเสนอว่าควรจะเป็นการหารือปัญหาในระดับอาเซียน

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ส่วนข้อคำถามว่าการพิสูจน์สัญชาติเป็นกลุ่มไม่น่าสามารถทำได้นั้น อยากถามกลับว่าการพิสูจน์เป็นรายบุคคลจะยากกว่าหรือไม่ สำหรับประเด็นเรื่องการสแกนม่านตา ตนมองว่า เป็นเรื่องยิบย่อยมาก เพราะปัจจุบันการเก็บลายนิ้วมือก็สามารถเก็บได้ทั้ง 10 นิ้วอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรจะคิด คือ ต้องมีมาตรการไม้ต่อจากการเปิดให้ขึ้นทะเบียนมากกว่า และทำให้เอเยนต์ สมาคมต่างๆ ไม่ถูกรัฐมองว่าเป็นผู้ร้าย และทำให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง

นายศักดิ์ชัย ธรรมปรีชาถาวร นายกสมาคมการค้าผู้นำเข้าและให้บริการแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางการพิสูจน์สัญชาติด้วยการส่งไปให้ประเทศ้นทางพิสูจน์ในคราวเดียว แต่ปัญหาคือ ระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของประเทศต้นทางก็ไม่ได้ดีมาก บางแห่งยังคงใช้กระดาษและชื่อนามสกุลซ้ำกันก็มีเยอะมาก ตรงนี้ก็ถือว่ายังเป็นปัญหา เช่นเดียวกับการมาพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวของกลุ่มจับคู่ ซึ่งมีทางการพม่าและกัมพูชามาเปิดพิสูจน์สัญชาติ ก็ไม่ได้มีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงเช่นกัน การพิสูจน์ก็เป็นเพียงการดูว่าพูดภาษาได้หรือไม่ จึงพูดได้ว่าการพิสูจน์ที่ทำอยู่ก็เฟก 100%
กำลังโหลดความคิดเห็น