xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจเบาหวาน ไม่ต้องอดอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตรวจเบาหวาน ไม่ต้องอดอาหาร ด้วย HbA1c ฮีโมโกลบินเอวันซี ลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อน พิการ เสียชีวิต
การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานด้วยการหาค่าน้ำตาลสะสม หรือ ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ในเลือด โดยไม่ต้องงดน้ำ - งดอาหาร ก่อนตรวจ สามารถช่วยค้นหาผู้เสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคต และผู้ที่เป็นเบาหวานแต่ไม่มีอาการของโรค รวมถึงเป็นเครื่องมือในการประเมินว่าผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมโรคได้ดีหรือไม่ ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

สถานการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันเบาหวานโลกปี 2017 นี้ สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติให้ความสำคัญเรื่อง “ผู้หญิงกับเบาหวาน” 1. ในปัจจุบันมีผู้หญิงมากกว่า 199 ล้านคนที่เป็นเบาหวาน และคาดว่า จำนวนจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2040 ทั่วโลก 2. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า เบาหวานเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คุกคามสุขภาพคนไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากข้อมูลความชุกของโรคเบาหวานในประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป พบว่า เบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ใน พ.ศ. 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ใน พ.ศ. 2557 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เป็นเบาหวานเกือบ 5 ล้านคน 3. อีกทั้งเบาหวานเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ของหญิงไทย 4. พบว่า ผู้หญิง 1 ใน 8 รายเสียชีวิตจากโรคเบาหวานที่มีจำนวนมากกว่าผู้ชาย โดยที่ผู้หญิงเป็นเบาหวานถึงร้อยละ 9.8 ในขณะที่ผู้ชายเป็นเบาหวานเพียงร้อยละ 7.83

นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ อาจารย์หน่วยโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอริสม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า เบาหวาน เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิต แต่คนกลับไม่ค่อยหวั่นกลัว เพราะมักไม่แสดงอาการของโรค หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยอย่างช้าๆ แต่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง สามารถส่งผลให้ไตเสื่อม เป็นโรคปลายประสาทเสื่อม เกิดแผลที่เท้าเปื่อยเรื้อรัง ต้องถูกตัดเท้า ตาบอด หรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียชีวิต ในประเทศไทย อัตราการตายด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี ในแต่ละวันจะมีประชากรไทยจำนวน 180 รายเสียชีวิตจากโรคเบาหวานหรือเกือบ 8 รายต่อชั่วโมง

การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ และควบคุมอาการเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการตรวจค่าน้ำตาลสะสม หรือ ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “ตรวจเอวันซี - A1c” จะสามารถแสดงค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดในช่วง 8 - 12 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะเบาหวานจากค่าเอวันซีได้ว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีสุขภาพดี หรือมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน หรือเป็นโรคเบาหวาน โดยสมาคมโรคเบาหวานของสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association; ADA) และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้กำหนดให้ใช้ HbA1c ในการวินิจฉัยการเป็นโรคเบาหวานได้

นพ.เพชร กล่าวว่า ในเม็ดเลือดแดง มี ฮีโมโกลบิน (Hb) ซึ่งทำหน้าที่จับออกซิเจนนำไปยังเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ โดยมีฮีโมโกลบินเอ (HbA) มากที่สุด ส่วนกลูโคส หรือน้ำตาลที่ไหลเวียนในกระแสเลือด เมื่อเจอเม็ดเลือดแดง ก็จะเข้าไปจับฮีโมโกลบินจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางห้องปฏิบัติการสามารถตรวจวัดค่าฮีโมโกลบินที่มีน้ำตาลเกาะอยู่นี้ได้ เรียกว่า ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) หรือการตรวจเอวันซี ทั้งนี้ เม็ดเลือดแดงมีอายุเฉลี่ยประมาณ 120 วัน การตรวจเอวันซี จึงแสดงค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสมในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา การงดหรือไม่งดอาหารก่อนตรวจจึงไม่มีผลต่อการตรวจ และไม่มีผลกระทบจากความแปรปรวนของระดับน้ำตาลในเลือดแต่ละวัน ดังนั้น ผลการตรวจจึงมีความแม่นยำ และสะท้อนภาวะที่แท้จริงของผู้เข้ารับการตรวจ

นายพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เบาหวานเป็นโรคไลฟ์สไตล์ การตรวจค่าเอวันซี นับเป็นวิธีการตรวจเบาหวานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งมักทำงานไม่เป็นเวลา ช่วยให้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องงดอาหารล่วงหน้า 8 - 12 ชั่วโมง ลดความหงุดหงิดจากความหิว และอาการวิงเวียนจากการอดอาหาร จึงเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุ ผลตรวจมีความแม่นยำ แพทย์สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจในการปรับลดขนาดยา เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย และยังสามารถใช้พยากรณ์ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวของผู้ป่วยได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น