ไม่มีใครชอบหรอกที่ถูกทักว่า “อ้วน”
และคำว่า “อ้วน” เพียงพยางค์เดียว ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากเสียความมั่นใจมามากนักต่อนักแล้ว
แต่ไม่ว่าจะไม่ชอบมากเพียงใด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้เราพบเห็นคนอ้วนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน !
จำได้ว่าในอดีตเมื่อครั้งเป็นเด็ก ในห้องเรียนหนึ่งห้องมักจะมีเพื่อนร่วมห้องที่มีรูปร่างอ้วนอย่างมากก็เพียงคนเดียวของห้องหรือคนเดียวของชั้นปี หรืออย่างมากก็แค่ท้วมๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักตกเป็นเป้าของเพื่อนร่วมชั้นที่จะถูกเรียก หรือล้อว่า “ยัยอ้วน” “ไอ้อ้วน” หรือถูกตั้งฉายาสารพัดคำที่แทนความหมายว่า “อ้วน”
และเพื่อนเด็กอ้วนคนนั้น เมื่อโตขึ้นก็มีรูปร่างที่อ้วนมากขึ้นตามวัย ซึ่งสอดคล้องกับนักวิชาการที่บอกว่าส่วนใหญ่เด็กอ้วนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนต่อไปในอนาคต
รู้ไหม..ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขของโลกกันแล้ว !!
เดอะ แลนเซ็ต ได้เผยผลสำรวจการรวบรวมข้อมูลครั้งใหญ่ โดยองค์การอนามัยโลก และมหาวิทยาลัย อิมพิเรียล คอลเลจ ลอนดอน ผ่านการสำรวจน้ำหนัก ส่วนสูงของคนที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไปทั่วโลกเกือบ 130 ล้านคน พบเด็กที่เป็นโรคอ้วนช่วงวัย 5 - 19 ปี ได้เพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านคน ในปี 2518 เป็น 124 ล้านคน ในปี 2559 เป็นการเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่า โดยมีการพบจำนวน 1 ใน 10 คน เป็นโรคอ้วน โดยพบเด็กชายและเด็กหญิงทั่วโลกอีกเกือบ 200 ล้านคน มีน้ำหนักเกินในระดับปานกลางหรือรุนแรง โดยจะพบมาก ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง เช่น เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา และแคริบเบียน
2 / 4
ปัจจุบันประชากรทั่วโลกเกือบ 2,000 ล้านคน มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่ง 671 ล้านคน เป็นโรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน กำลังเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขของโลก และมีแนวโน้มเลวร้ายลงในอีกหลายปีข้างหน้า หากไม่เร่งแก้ไข
นักวิจัยจากสหพันธ์โรคอ้วนโลก เตือนว่า โลกจะสูญเสียงบประมาณรักษาโรคที่เกิดจากโรคอ้วนปีละ 9 แสน 2 หมื่นล้านปอนด์ หรือกว่า 40 ล้านล้านบาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568
สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กอ้วนมาจากอาหารไขมันสูงราคาถูกที่วางจำหน่ายแพร่หลายและหาซื้อง่าย ทำให้เด็กและวัยรุ่นในเอเชียกลางเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด โดยจีนและอินเดียเผชิญภาวะเด็กและวัยรุ่นเป็นโรคอ้วนสูง
เมื่อหันมามองบ้านเรา ถ้าจำกันได้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยประกาศจับมือกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไทยวัยเรียน ตั้งเป้าลดเด็กอ้วนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 15 ภายในปี 2560
สาเหตุครั้งนั้นถูกระบุว่ามาจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย โดยพบว่า เด็กวัยเรียน กินผักเพียงวันละ 1.5 ช้อนกินข้าวต่อคน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณที่แนะนำ คือ ควรกินผักวันละ 12 ช้อนกินข้าว และกินผลไม้ทุกวันเพียง ร้อยละ 26.8 สำหรับการออกกำลังกายพบว่า เด็กที่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ คือ 60 นาทีต่อวัน และสัปดาห์ละ 3 วัน มีเพียงร้อยละ 24.3 ในขณะที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกม และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกินกว่าวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เด็กไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี
ปีนี้ปี 2560 เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่เพียงตัวเลขเด็กไทยจะอ้วนน้อยลง แต่กลับอ้วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บสูงด้วย
เรื่องโรคอ้วนขณะนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว แต่มันได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก และกำลังระบาดไปอย่างหนัก
ที่สำคัญมันได้ส่งผลให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.8 ล้านคน
โรคอ้วนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะในสังคมไทย ที่เราอยู่ท่ามกลางสังคมบริโภคนิยม
3 / 4
หันกลับมาสำรวจพฤติกรรมของคนเป็นพ่อแม่กันดีกว่าว่ามีส่วนทำให้ลูกต้องเป็นผู้ใหญ่อ้วน เพราะสร้างพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้กับลูกตั้งแต่เล็กกันหรือเปล่า
หนึ่ง ค่านิยมจ้ำม่ำแล้วน่ารัก
ตอนลูกเล็กคุณเป็นพ่อแม่ที่อยากให้ลูกมีรูปร่างจ้ำม่ำหรือเปล่า พ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้านมักจะชอบเด็กอ้วน ยิ่งอ้วนมากระดับแก้มห้อยจะยิ่งชอบ เพราะน่ารักน่าฟัด ถ้าคุณคิดอย่างนี้ คุณกำลังมีส่วนต่อการทำร้ายลูกแล้วล่ะ
สอง เมื่อลูกโตก็อยากผอมเอง
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มักปรนเปรอให้ลูกกินเต็มที่ โดยไม่สนใจว่าลูกจะอ้วนหรือไม่ และมักคิดว่าลูกอ้วนตอนเด็กไม่เป็นไรหรอก พอเขาโตขึ้นก็อยากผอมเอง แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม เพราะส่วนใหญ่เด็กที่อ้วนเมื่อตอนเด็กจะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนในอนาคต
สาม สร้างนิสัยไม่ดีให้ลูก
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่สร้างนิสัยเรื่องการกินไม่ดีให้ลูกตั้งแต่เล็ก ประเภทกลัวลูกหิว หรือกลัวลูกกินไม่อิ่ม พ่อแม่มักจะคิดเสมอว่าลูกกินไปนิดเดียวไม่น่าอิ่ม เป็นผลให้เด็กเคยชินกับการกินเยอะมากกว่ากินอิ่ม ทั้งที่ในความเป็นจริง เด็กตัวนิดเดียว กินไม่เยอะก็อิ่ม สิ่งสำคัญ ควรดูจากการเจริญเติบโตของลูก ส่วนสูงและน้ำหนักสัมพันธ์กันไหม มีพัฒนาการรอบด้านหรือไม่
สี่ ไม่ฝึกให้กินอาหารที่มีประโยชน์
เรื่องนี้สำคัญมาก พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยฝึกให้ลูกมีนิสัยการกินอาหารที่มีประโยชน์ แต่กลับตามใจหรือปล่อยให้ลูกกินอาหารที่อร่อยมากกว่ามีประโยชน์ ถ้าเขาถูกตามใจเรื่องพฤติกรรมการกินมาตั้งแต่เล็ก การแก้พฤติกรรมในภายหลังจะทำได้ยากกว่า โดยปกติลูกจะกินอาหารตามพ่อแม่ ยิ่งถ้าพ่อหรือแม่เป็นคนทำอาหารเองก็ยิ่งง่ายต่อการปลูกฝังเรื่องการกินที่ถูกหลักโภชนาการได้ด้วย
ห้า ชอบกินอาหารนอกบ้าน
ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบรับประทานอาหารนอกบ้าน จะทำให้ลูกคุ้นเคยกับการกินอาหารนอกบ้าน ซึ่งมักจะติดใจและชอบที่จะกินอาหารที่มีแคลอรี่สูง ไขมันสูง เพราะอาหารเหล่านั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้
4 / 4
ถูกใจผู้บริโภค ยิ่งถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กล่ะก็ รับประกันได้ผลแน่ โอกาสที่เด็กจะกลับมากินอาหารที่มีประโยชน์ก็จะลดน้อยลง
หก ไม่ชวนออกกำลังกาย
เรื่องนี้ต้องเริ่มจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านก่อน ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง ควรจะชวนลูกออกกำลังกาย ฝึกให้เป็นนิสัย พยายามหาโอกาส หรือสร้างกิจกรรมเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้เคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าปลูกฝังตั้งแต่เล็กอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เด็กๆ ติดการออกกำลังกาย ซึ่งจะนำมาสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดี
ทั้ง 6 ประการนี้ หมายความว่า ถ้าเริ่มจากวิธีคิดผิด การกระทำก็ผิดด้วย ผลลัพธ์ที่ได้ของพ่อแม่ก็คือการทำร้ายลูกนั่นเอง !!