วิจัยพบ “ม่านตา” เป็นการระบุตัวตนทางชีวมาตรที่มีประสิทธิภาพแยกแยะได้ชัดเจนสูงสุด เหตุมีลักษณะเฉพาะ แม้แต่ฝาแฝดยังแตกต่างกัน มีจุดลักษณะเฉพาะถึง 266 จุด ต่างจากวิธีอื่นที่มีเพียง 13 - 60 จุด มีความคงทนถาวรสูง ยากต่อการปลอมแปลง มีความปลอดภัยสูง แต่ได้รับการยอมรับไม่มาก ใช้งานไม่แพร่หลาย ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
จากกรณีการใช้เครื่องสแกนม่านตา เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางานได้รับมอบเครื่องสแกนม่านตา จำนวน 30 เครื่อง จากกรมเจ้าท่ามาดำเนินการต่อในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลแรงงานต่างด้าวกลุ่มกิจการประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ และมีกระแสข่าวการจัดซื้อเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการพิสูจน์ตัวตนแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานการวิจัย เรื่อง การวิเคราะห์เปรียบเทียบการระบุตัวตน โดยการใช้ลักษณะเฉพาะทางกายภาพของร่างกาย โดย นางอัจจิมา มณฑาพันธุ์ อจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างการระบุตัวตน โดยใช้คุณลักษณะเฉพาะทางกายภาพของร่างกายในแต่ละประเภท ประกอบด้วย ลายนิ้วมือ ใบหน้า ม่านตา (Iris) จอประสาทตา (Retina) จมูก ใบหู ลายฝ่ามือ สารพันธุกรรม และ คลื่นสมอง โดยงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า ม่านตาเป็นส่วนที่เห็นเป็นสีดวงตา ประกอบไปด้วย เม็ดสีจำนวนมาก มีหลายสีตามเชื้อชาติ เช่น ดำ น้ำตาล ฟ้า เขียว ม่านตาเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ลักษณะเป็นวงกลมขนาดเท่ากับกระจกตาดำ อยู่ด้านในถัดกระจกตาดำเข้าไป ตรงกลางม่านตาเป็นรู เรียกว่า รูม่านตา ซึ่งมีหน้าที่ปรับแสงให้เข้าตาได้มากน้อยตามต้องการ เมื่อได้รับแสงจะหดเล็กลง และขยายใหญ่ขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืด โดยลักษณะเนื้อเยื่อม่านตามีลักษณะเฉพาะบุคคลและมีความซับซ้อน มีเอกลักษณ์ แม้แต่ในพี่น้องหรือฝาแฝดก็จะมีความแตกตางกัน และอยู่ติดตัวไปตลอดทั้งชีวิต ซึ่งการลอกเลียนแบบนั้นเป็นไปได้ยากมาก
“เทคโนโลยีการรู้จำม่านตา (Iris recognition) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ ที่ได้รับการยอมรับสามารถใช้งานได้อย่างน่าเชื่อถือในการระบุอัตลักษณ์บุคคล โดยการวิเคราะห์จากรูปแบบม่านตาของมนุษย์ ซึ่งอยู่ในรูปแบบเฉพาะของลักษณะทางพันธุกรรม ลักษณะการทำงานของเทคโนโลยีการรู้จำม่านตา จะเปลี่ยนลักษณะและตำแหน่งที่เครื่องสแกนมองเห็นไปเป็นลำดับความถี่แปลเป็น bit pattern ขนาด 512 Bytes ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบหรือแม่แบบในการตรวจสอบหาเอกลักษณ์ครั้งต่อไปของผู้ใช้งาน โดยลักษณะเฉพาะของม่านตาจะมีมากกว่า 266 จุด ซึ่งจะต่างจากลักษณะเฉพาะของการระบุตัวตนด้วยชีวมาตรประเภทอื่นๆ ที่ใช้ในการตรวจหาจุดลักษณะเฉพาะเพียงแค่ 13 ถึง 60 จุดเท่านั้น โดยการสแกนม่านตาขึ้นอยู่กับว่าเครื่องมือที่ใช้ในการสแกนว่า สามารถสแกนม่านตาได้ชัดมากเพียงใด ซึ่งโดยปกติจะใช้แสงอินฟราเรดในการสแกนเนื้อเยื่อในม่านตาที่เรียงตัวแบบรัศมีวงกลม รวมทั้งลักษณะอื่นๆ เช่น ขนาดม่านตา ร่องจุดโคโรนา เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบและการให้รหัสม่านตา” รายงานวิจัย ระบุ
รายงานวิจัยยังระบุว่า ข้อดีของม่านตา คือ ม่านตาเป็นส่วนของร่างกายที่อยู่ภายในลูกตาและถูกคลุมไว้ด้วยเนื้อเยื่อ มีความเป็นเอกลักษณ์ คงทนถาวร และปลอมแปลงยากจึงเหมาะสำหรับใช้ในการระบุตัวตน ม่านตาสามารถถูกสแกนในระยะใกล้ตั้งแต่ 10 เซนติเมตร จนถึงประมาณ 1 เมตร ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการสแกนเก็บข้อมูล ต่างจากการเก็บข้อมูลของชีวมาตรประเภทอื่น เช่น การสแกนลายนิ้วมือที่ผู้ใช้จำเปนต้องสัมผัสกับอุปกรณ์ ถึงแม้ว่าการผ่าตัดหรืออาการเจ็บป่วยอาจทำให้รูปร่าง สี ของม่านตามีการเปลี่ยนแปลงไป แต่รายละเอียดของม่านตายังคงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับข้อเสีย การสแกนม่านตาจะไม่สามารถทำได้ในระยะไกลหลายเมตร ดังนั้น การเก็บข้อมูลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกเก็บสูงมาก และต้องใช้เวลา นอกจากนี้ ยังถูกบดบังได้อย่างง่ายดายโดยขนตา เปลือกตา เลนส์ และการสะท้อนจากกระจกตา ผู้ถูกเก็บจะรู้สึกว่ามีผลเสียกับดวงตา ค่าใช้จ่ายการดำเนินการสูง อุปกรณ์มีราคาแพง และต้องการผู้เชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูล
สำหรับการเปรียบเทียบคุณลักษณะของการเก็บข้อมูลหรือพิสูจน์ตัวตนด้วยชีวมาตรแต่ละประเภท คือ ลายนิ้วมือ ใบหน้า ม่านตา จอประสาทตา จมูก ใบหู ลายฝ่ามือ สารพันธุกรรม และคลื่นสมอง แบ่งเป็น 1. ประสิทธิภาพในการแยกแยะที่ชัดเจน พบว่า ม่านตาและสารพันธุกรรมมีประสิทธิภาพสูงสุด รองลงมาคือ ลายนิ้วมือ จอประสาทตา ลายฝ่ามือ และคลื่นสมอง โดยใบหน้ามีค่าประสิทธิภาพน้อยที่สุด 2. ความแพร่หลายในการใช้งาน พบว่า ลายนิ้วมือและลายฝ่ามือมีการใช้งานแพร่หลายสูง ส่วนการใช้ม่านตาและคลื่นสมองยังมีการใช้งานที่ต่ำ 3. ความคงทนถาวร พบว่า สารพันธุกรรม มีความคงทนสูงสุด รองลงมาคือ ลายนิ้วมือ ม่านตา ใบหู และลายฝ่ามือ
4. ความยากในการปลอมแปลง พบว่า ม่านตา ลายฝ่ามือ สารพันธุกรรม และคลื่นสมอง มีความยากในการปลอมแปลงมากสุด 5. ความง่ายในการจัดเก็บข้อมูล พบว่า ใบหน้าและจมูกจัดเก็บได้ง่ายสุด ลายนิ้วมือและม่านตาความยากง่ายอยู่ในระดับกลาง ขณะที่จอประสาทตาจัดเก็บได้ยากที่สุด 6. การได้รับการยอมรับ พบว่า สารพันธุกรรมได้รับการยอมรับมากที่สุด รองลงมาคือ ลายนิ้วมือ ลายฝ่ามือ ส่วนม่านตา จอประสาทตา และใบหู ได้รับการยอมรับในระดับกลาง 7. ค่าใช้จ่าย พบว่า จอประสาทตาและสารพันธุกรรมมีค่าใช้จ่ายสูงสุด รองลงมา คือ ม่านตา ค่าใช้จ่ายน้อยสุด คือ ลายนิ้วมือและคลื่นสมอง และ 8. ระดับความปลอดภัย พบว่า ม่านตา สารพันธุกรรม และคลื่นสมอง มีความปลอดภัยสูงที่สุด รองลงมา คือ ลายฝ่ามือ และ ใบหู