xs
xsm
sm
md
lg

จังซี่มันต้องถอน...ถอน “เหล้า” ออกจากวัฒนธรรม ภารกิจยาก แต่ทำได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

หากพูดถึงการ “ถอนเหล้า” หลายคนคงนึกไปถึงการแก้อาการ “เมาค้าง” ด้วยการดื่มเพิ่ม ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ผิด ส่วนการ “ถอนเหล้า” ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้เมาค้างแต่อย่างใด แต่เป็นการถอนเหล้าออกไปจริงๆ ต่างหาก

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ในหลายพื้นที่ก็มีปัจจัยต่างกัน ในสังคมเมืองอาจเพราะถูกเพื่อนชวนหรือดื่มเพื่อสังคม ส่วนต่างจังหวัดแม้จะคล้ายคลึงกัน แต่มีปัจจัยแวดล้อมที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ “งานประเพณี” ที่จัดขึ้นเมื่อใดต้องมีสุรายาเมาเข้ามาร่วมด้วยเสมอ และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีแล้ว ก็หมายถึงมีการสืบทอดอย่างยาวนาน และกลายเป็นความคุ้นชินของคนในชุมชนหรือคนในสังคมนั้นๆ จนยากที่จะถอนออกมาได้ หรือยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น วัฒนธรรมประเพณีที่มีเหล้าแฝงตัวอยู่ด้วยนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า สิ่งแวดล้อมค่อนข้างมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจดื่ม ซึ่งงานบุญประเพณีหรือวัฒนธรรมต่างๆ ถือเป็นสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่งที่มีผลต่อการเข้าถึงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแม้ครอบครัวจะห้ามบุตรหลาน หรือเยาวชนดื่มเหล้า แต่เมื่อถึงงานเทศกาลพวกเขาก็เห็นผู้ใหญ่ดื่มกัน ก็เลยกลายเป็นการหล่อหลอมให้พวกเขาเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะใครๆ ก็ดื่มกัน ก็ยิ่งทำให้วัยรุ่นเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น ขณะที่ผู้ใหญ่เองก็จะดื่มอย่างต่อเนื่องไม่อาจเลิกดื่มกันได้ง่ายๆ

หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเป็นจำนวนมาก ทั้งประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว งานบุญไหลเรือไฟ งานบุญบั้งไฟ หรือแม้กระทั่งงานแต่งงานหรืองานศพ ต่างก็มี “เหล้า - เบียร์” เข้ามาร่วมวงอยู่ด้วยเสมอ

นพ.บัณฑิต กล่าวว่า แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องดำเนินการ ซึ่งการลดละเลิกดื่มแอลกอฮอล์นั้น สสส. มีการผลักดันใน 2 ส่วน คือ การลดนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งจะดำเนินการในกลุ่มเยาวชน โดยมีการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย กระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อน เพื่อป้องกันไม่ให้วัยรุ่นเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย และการลดละเลิกการดื่มของนักดื่มหน้าเก่า ซึ่งหนึ่งในกลวิธีของการดำเนินงานทั้งสองกลุ่ม คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้พวกเขาเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น ก็จะช่วยป้องกันไม่เกิดนักดื่มหน้าใหม่ และลดการบริโภคของนักดื่มหน้าเก่าลงได้ ยกตัวอย่าง การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และมีการต่อยอดออกไปจนถึงการงดเหล้าครบพรรษา งดเหล้าหลังออกพรรษา การรับน้องปลอดเหล้า งานบุญประเพณีปลอดเหล้าต่างๆ ซึ่งมีการขยายเครือข่ายการดำเนินงานไปเรียกได้ว่าแทบทั่วทั้งประเทศ

“การดำเนินงานดังกล่าวช่วยให้สามารถลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ และบางพื้นที่ถึงขั้นสามารถจัดงานบุญปลอดเหล้าได้อย่างเต็มรูปแบบ และสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมแบบเดิมออกไปได้ ซึ่งกลไกสำคัญอยู่ที่การดำเนินการร่วมกับคนในชุมชนหรือคนในพื้นที่ ซึ่งหากเขาเข้าใจและเห็นปัญหาที่จะตามมาของการดื่มและเกิดการตัดสินใจผ่านประชาคมว่าจะแก้ปัญหาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยให้ภารกิจการถอนเหล้าออกจากวัฒนธรรมที่ดูเป้นเรื่องยาก สามารถทำได้จริง” นพ.บัณฑิต กล่าว

ทั้งนี้ พื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบในเรื่องของการถอนเหล้าออกจากวัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะพื้นที่ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ที่สามารถขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดเหล้าได้อย่างเข้มแข็ง และมีการจัดงานต่อเนื่องมาแล้วถึง 14 งานบุญ คือ 1. งานปีใหม่ 2. สงกรานต์ 3. งานบุญบั้งไฟ 4. งานทอดกฐิน 5. งานทอดผ้าป่า 6. งานศพ 7. งานบวช 8. งานบุญอัฐิ (ทำบุญกระดูก) 9. งานบุญซำฮะ หรืองานบุญข้าวประดับดิน 10. งานรำอ้อ (รำไหว้ผีบรรพบุรุษ) 11. งานลอยกระทง 12. งานบุญขึ้นบ้านใหม่ 13. งานแต่งงาน และ 14. งานบุญออกพรรษา

เช่นเดียวกับพื้นที่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ก็สามารถถอนเหล้าออกจากวัฒนธรรมที่ถือว่าหยั่งรากลึกมานานได้คือ งานศพปลอดเหล้า และงานแซนโฎนตาปลอดเหล้า

นายขวัญชัย ไชยโพธิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ กล่าวว่า งานแซนโฎนตา คือ ประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวขุขันธ์ที่มีการใช้สุราเป็นหนึ่งในเครื่องเซ่นไหว้ เนื่องจากเชื่อว่าสุราเป็นน้ำบริสุทธิ์ที่สามารถเชื่อมโยงกับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปได้ ซึ่งหลังจากการเซ่นไหว้ก็จะมีการตั้งวงดื่มกินกันจนเมามาย จนส่งผลให้เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทและอุบัติเหตุตามมา จึงมีการขับเคลื่อนรณรงค์ให้ลดละเลิกการใช้สุราในขบวนแห่แซนโฎนตาโดยมีเกณฑ์การให้คะแนนขบวนแห่ที่ไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในระดับอำเภอ ซึ่งต่อมาได้มีการยกระดับและรณรงค์ให้ชุมชนหันมาใช้ น้ำบริสุทธิ์ น้ำมะพร้าว และ น้ำผลไม้ แทนการใช้สุราในพิธีกรรมเซ่นไหว้ที่จัดในครัวเรือน

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลงานแซนโฎนตาอำเภอขุขันธ์ ปี 2558 พบว่า ผลที่ได้จากการดำเนินการดังกล่าว สามารถประหยัดค่าเหล้าในช่วงเทศกาล ได้ถึงปีละ 15 ล้านบาท ส่วนปี 2559 ประหยัดค่าเหล้าได้ถึง 30 ล้านบาท ขณะที่งานศพปลอดเหล้าสามารถประหยัดได้งานละ 30,000 บาท โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 700 คน ก็สามารถประหยัดได้ถึงปีละ 20 ล้านบาท

ความสำเร็จในการรณรงค์งานบุญประเพณีปลอดเหล้าของ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล นายอำเภอขุขันธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ อ.ขุขันธ์ ถือเป็นอำเภอที่มีการดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ โดยเกิดปัญหาอุบัติเหตุเมาแล้วขับของวัยรุ่นร้อยละ 60 ปัญหาอาชญากรรมร้อยละ 50 เกิดคนป่วยจากการดื่มเหล้าแล้วมารักษาตัวในโรงพยาบาลเป้นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งภาคราชการและประชาสังคมล้วนมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข จึงมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ขุขันธ์ก้าวหน้า ชาวประชาร่วมใจ”

“ความสำเร็จน่าจะมาจากการดำเนินงานภายใต้วงคุยสภาวัฒนธรรม วงคุยขบวนเครือข่ายสุขภาวะ ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เข้มแข็งเอาจริงเอาจัง และรณรงค์ไปพร้อมกลไกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีทุกหมู่บ้าน และการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อาทิ ป้ายรณรงค์ สปอตวิทยุ ขุขันธ์จึงสามารถขับเคลื่อนร่วมกันทั้งอำเภอรวม 22 ตำบลได้” นายสำรวย กล่าว

แม้การถอนเหล้าออกจากวัฒนธรรมประเพณีจะดูเหมือนเป็นภารกิจที่ยาก แต่การใช้กลไกของประชาสังคมในพื้นที่ ร่วมกันเห็นปัญหาจากการดื่มและต้องแก้ไขร่วมกัน ก็ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนที่สามารถถอนเหล้าออไปจากวัฒนธรรมได้

กำลังโหลดความคิดเห็น