xs
xsm
sm
md
lg

สอนลูกให้รู้กาลเทศะในพระราชพิธี / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของชาวไทย จะเริ่มขึ้นแล้ว เชื่อแน่ว่าคลื่นมหาชนจากทั่วสารทิศจะหลั่งไหลเข้าพื้นที่จัดงานพระราชพิธีอย่างแน่นอน

จนถึงขณะนี้ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเดินทางมาปักหลักจับจองพื้นที่บริเวณรอบนอกท้องสนามหลวงล่วงหน้ากันแล้ว เพื่อรอเข้าจุดคัดกรอง แม้แดดจะร้อนแรงสลับกับฝนที่ตกอย่างหนัก แต่พี่น้องยังคงยืนหยัดไม่ย่อท้อ

ทุกคนปรารถนาอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสด็จสู่วรรคาลัย และจดจ่อที่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีอันตระการตาสมพระเกียรติตลอดวันตลอดคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2560
แต่ก็ต้องยอมรับว่าจากการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งที่ 2 พบว่า ยังมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม มีกริยาหรือกระทำการไม่เหมาะไม่ควร และไม่รู้กาลเทศะ จึงทำให้เกิดการตำหนิติติงจากสังคม จนภาครัฐต้องมีการออกข้อห้าม และขอความร่วมมือให้ผู้ที่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีได้ปฏิบัติ ดังนี้

1. งดพกพาอาวุธ วัตถุโลหะที่อาจเป็นอันตรายเข้าพื้นที่เด็ดขาด
2. งดสวมใส่ ยีนส์ เสื้อผ้ารัดรูป เสื้อแขนกุด เสื้อสายเดี่ยว
3. งดเปล่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ”
4. งดแสดงอาการหยอกล้อ อยู่ในอาการสำรวม
5. งดถ่ายภาพโดยกล้องเลนส์ซูม และงดใช้ขาตั้งกล้อง
6. หลีกเลี่ยงการใช้ร่ม พัด หมวก แว่นตากันแดดที่หลากสี
7. อย่าออกนอกพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ ไม่วิ่งตัดหน้าหรือห้อมล้อม กีดขวางทางริ้วขบวน

ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมหมู่มาก เป็นเรื่องของประเพณี และเมื่อต้องการถวายความอาลัยและร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ก็ควรจะทำด้วยความงดงามทั้งกาย วาจา และใจ ที่สำคัญต้องรู้จัก “กาลเทศะ” ด้วย

อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้เท่ากับเรากำลังเป็นแบบอย่างให้กับลูกหลาน เด็กและเยาวชนคนรุ่นหลังที่กำลังมองผู้ใหญ่ในการปฏิบัติตนในช่วงเวลาประวัติศาสตร์เยี่ยงนี้

กาลเทศะทางกาย

เริ่มตั้งแต่เครื่องแต่งกาย ขอให้ดำเนินการตามแนวทางที่สำนักพระราชวังและทางการขอความร่วมมือ โดยสุภาพบุรุษ ให้สวมเสื้อเชิ้ตสีดำ กางเกงขายาวสีดำ รองเท้าสุภาพหุ้มส้นสีดำ สุภาพสตรี สวมใส่เสื้อดำไม่รัดรูป กระโปรงยาวสีดำคลุมเข่า รองเท้าสุภาพหุ้มส้นสีดำ
ส่วนอุปกรณ์หรือสัมภาระที่จะเตรียมไปด้วย ก็ควรคำนึงถึงสีด้วย ควรเป็นสีดำ ไม่ว่าจะเป็นร่ม หมวก ผ้าพันคอ พัด กระเป๋า แว่นกันแดด ฯลฯ

กาลเทศะทางวาจา

การรู้ว่าสิ่งใดควรจะพูด สิ่งใดไม่ควรพูด รู้จักสำรวมเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ควรพูดคุยและหัวเราะด้วยความสนุกสนานกับเพื่อนจนเกินงาม อาจเพราะไม่ได้เจอกันมานาน จนบางครั้งลืมตัว ควรต้องสำรวมกิริยา ยิ้มให้กัน แต่ไม่ใช่นั่งหัวเราะเอิ้กอ้าก และการใช้เสียงก็ควรพอประมาณ มิใช่ตะโกนโหวกเหวก คุยกันเสียงดัง

กาลเทศะทางพฤติกรรม

การเคารพกฎกติกา ให้เกียรติกับสถานที่ และให้สมพระเกียรติ ด้วยการให้ความร่วมมือ เช่น เข้าคิว ก็ถือเป็นการรู้กาลเทศะอย่างหนึ่ง การถ่ายรูป ก็ไม่ใช่การเซลฟีเพื่อความสนุกสนาน หรือถ้ามีเหตุต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง เพราะอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก ก็ต้องให้อภัยกัน ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ ซึ่งหมายรวมไปถึงการมีน้ำใจแบ่งปันซึ่งกันและกันด้วย

ส่วนการที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่อาจจะพาลูกไปร่วมในพระราชพิธีด้วย มีคำแนะนำมาฝากค่ะ
โดยส่วนตัวไม่แนะนำให้พาลูกเล็กไปค่ะ แต่ถ้าลูกโตพอสมควรแล้วก็สามารถไปได้ เพียงแต่พ่อแม่ต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะในพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนจำนวนมาก เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องระมัดระวังลูกๆ ด้วย แต่ก็เข้าใจค่ะว่าบางครอบครัวก็มีความจำเป็นต้องพาเจ้าตัวเล็กไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเตรียมตัวให้พร้อม

หนึ่ง - ทำความเข้าใจกับลูกก่อนว่าจะไปที่ไหน ไปทำอะไรกัน เพื่ออะไร และเขาจะต้องไปเจอกับอะไร เพื่อเป็นข้อตกลงกันเบื้องต้น จะได้ไม่งอแง และทางที่ดีอย่าบังคับให้เขาไป ถ้าเขาไม่อยากไปก็หาทางแก้ปัญหาชีวิตทางอื่นก่อน

สอง - สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก บางช่วงแดดแรงร้อนมาก บางช่วงก็ฝนตกหนัก ควรเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และเผื่ออุปกรณ์ไปให้พร้อม เช่น หมวก ร่ม หรือเสื้อกันฝนติดไปด้วย รวมไปถึงอาหารการกิน และเตรียมผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กด้วย เพราะเรื่องห้องน้ำจะเป็นปัญหาทีเดียว

สาม - เมื่ออยู่ในพื้นที่แล้ว อย่าปล่อยลูกให้อยู่ตามลำพัง หรือคลาดสายตาเด็ดขาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จูงมือลูกไว้ไม่ให้หลุดจากกัน เพราะกรณีเด็กหายมักเกิดจากพ่อแม่ไม่จูง โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุไม่เกิน 10 ขวบ และอย่าคิดว่าแค่แป๊บเดียว เพราะส่วนใหญ่ที่เด็กหลงก็เพราะคำว่าแป๊บเดียวนี่แหละ

สี่ - สอนให้ลูกจำสิ่งสำคัญให้ได้ เช่น ชื่อจริงตัวเอง ชื่อพ่อแม่ อายุ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่ รวมไปถึงการสอนวิธีโทรศัพท์ให้ติดต่อพ่อแม่ หรือญาติโดยให้ลูกจำเบอร์มือถือพ่อแม่ให้ได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจะเขียนชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์พ่อแม่ติดตัวเด็กไว้

ห้า - ต้องทำความเข้าใจกับลูกในสถานการณ์ปกติด้วยว่า ถ้ามีการพลัดหลงกับพ่อแม่ อย่าเคลื่อนที่ไปที่ไหน เพราะพ่อแม่จะต้องหาทางตามหาลูกให้ได้ ซึ่งจะกลับไปหาในสถานที่เดิม ๆ ที่เพิ่งจากมา รวมไปถึงฝึกให้ลูกรู้จักการขอความช่วยเหลือ พยายามชี้ให้ลูกเห็นถึงสัญลักษณ์ที่สำคัญ เช่น กองอำนวยการ หรือพูดคุยกันล่วงหน้าให้เป็นเรื่องปกติว่า ถ้าเกิดลูกพลัดหลงควรจะไปที่ไหน แล้วจูงลูกไปดู หรือให้ไปแจ้งตำรวจ ให้ดูว่าเครื่องแบบตำรวจเป็นแบบไหน

หก - สุดท้ายที่ลืมไม่ได้เลย คือ ให้พูดคุยกับลูกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงบำเพ็ญมาเพื่อแผ่นดินนี้ตลอดระยะเวลา 70 ปี ของการครองราชย์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกยังไม่เกิด หรือยังเล็กจำความไม่ได้ เรื่องนี้สามารถพูดคุยได้ตลอดทั้งก่อนและหลังพระราชพิธี

ทั้งหมดก็เป็นเพียงตัวอย่างแนวทางที่จะทำให้การส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยเป็นไปอย่างสมพระเกียรติที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น