กรมอนามัย ชวนคนไทยทำบุญตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ ลดเสี่ยงอาพาธด้วยโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และหัวใจ
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตรหรือถวาย ซึ่งอาการอาพาธของพระสงฆ์ส่วนหนึ่งมาจากการตักบาตรอาหารที่ไม่หลากหลายของฆราวาส และเป็นอาหารที่ประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิ ที่ให้พลังงานสูง ให้เกิดเสี่ยงการอาพาธด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และหัวใจพระสงฆ์บางรูปอาพาธมากกว่า 1 โรคประกอบกับสถานภาพไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย จึงมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
นพ.อรรถพล กล่าวว่า เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ ประชาชนจึงควรทำบุญตักบาตรด้วยอาหารเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม โดยควรเลือกใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาว หรือข้าวกล้องผสมข้าวขาว อาหารที่ให้ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุสูง เช่น ผักและผลไม้ต่างๆ เพื่อจะได้มีกากอาหารช่วยในการลดคอเลสเตอรอล ชะลอการดูดซึมน้ำตาลขับถ่าย อาหารที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นมจืดหรือนมพร่องมันเนย ปลาเล็กปลาน้อย ผักที่มีใบเขียวเข้ม เต้าหู้ เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกไม่ให้เปราะบาง แตกหรือหักง่าย อาหารที่ให้โปรตีนและไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกายซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน เลี่ยงอาหารทอด สลับการตักบาตรด้วยแกงกะทิเปลี่ยนเป็นต้มจืด ต้มยำน้ำใส แกงเลียง แกงป่า รสไม่จัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ ยำ หรือทำเป็นน้ำพริก ผักลวก ไข่ต้ม เปลี่ยนจากขนมหวานเป็นผลไม้ ตักบาตรด้วยอาหารครบ 5 หมู่ และลดการปรุงอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้
“เมนูชูสุขภาพ อาทิ ข้าวกล้อง ลาบปลา ปลานึ่ง น้ำพริก - ผักลวก แกงส้ม แกงเลียง แกงเหลือง ต้มยำปลา ยำมะม่วง ยำสมุนไพร ผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ หากไม่ได้ปรุงอาหารเองเลือกซื้อจากร้านจำหน่วยอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุก ใหม่ และปรุงจากวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ มีการป้องกันแมลงวัน ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และใช้อุปกรณ์ หยิบจับอาหารแทนการใช้มือ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว