xs
xsm
sm
md
lg

ต้องอบรม 120 ชม.ถึงย้ายผู้ป่วยได้!! กู้ชีพท้วงขอยืดเวลาประกาศ หวั่น ปชช.นอนรอความตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายกู้ชีพ ยื่น รมว.สธ. ยืดเวลาออกประกาศกู้ชีพเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องผ่านอบรม 120 ชั่วโมง ชี้ ทำกู้ชีพพื้นฐานทำงานไม่ได้ หวั่นประชาชนรับผลกระทบ นอนรออาการวิกฤต สพฉ. ยันยังทำงานได้ตามเดิม ประกาศบังคับกู้ชีพที่เข้ามาใหม่ ส่วนกู้ชีพเดิมเร่งอบรมพัฒนาจำนวนชั่วโมงเพิ่ม

วันนี้ (18 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 10 องค์กรเครือข่ายกู้ชีพ กู้ภัยแห่งประเทศไทย นำโดย นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิฮุก 31 นครราชสีมา เดินทางมายื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (บอร์ด กพฉ.) เพื่อขอให้พิจารณาชะลอการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ. 2560

นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวจะมีการกำหนดว่า ผู้ปฏิบัติการกู้ชีพที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 120 ชั่วโมง เครือข่ายไม่ได้คัดค้านและยินดีที่จะปฏิบัติตาม เพราะเป็นการยกระดับความสามารถของหน่วยกู้ชีพ เพียงแต่มองว่ายังไม่ถึงเวลาที่ควรออกประกาศ เพราะกู้ชีพที่ผ่านการอบรม 120 ชั่วโมง มีจำนวนไม่มาก แต่หน่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐานของมูลนิธิต่างๆ ที่เป็นจิตอาสาที่ผ่านการอบรม 24 ชั่วโมง ซึ่งมีความสามารถในการช่วยชีวิตประชาชนเช่นกันมีมากถึง 1 แสนคน ซึ่งเราก็ต้องการพัฒนาศักยภาพเช่นกัน แต่หน่วยที่พัฒนาศักยภาพยังไม่เพียงพอ ดังนั้น สพฉ. จึงควรเพิ่มอัตรากู้ชีพขั้นสูงที่ผ่านการอบรม 120 ชั่วโมง ให้มีจำนวนมากก่อนแล้วค่อยออกประกาศก็ได้ ทั้งนี้ หากออกประกาศดังกล่าวมาเลยนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชน เพราะกู้ชีพพื้นฐานไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้ผู้ป่วยที่รอรับการรักษาตอนแรกซึ่งอาการยังธรรมดาอยู่ อาจกลายเป็นผู้ป่วยวิกฤตได้ เพราะไม่ได้รับการส่งต่อที่รวดเร็ว

ด้าน นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมบอร์ด กพฉ. ว่า ที่หน่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐานเกิดความวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถส่งต่อและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้นั้น ขอยืนยันว่า การปฏิบัติงานกู้ชีพของหน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม สามารถให้การช่วยเหลือพื้นฐาน และส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมายังสถานพยาบาลได้ตามปกติ ส่วนข้อเรียกร้องก็มีการรับฟัง โดยให้มีการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาหารือ รับฟังความเห็นประมาณ พ.ย. นี้

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ประกาศฉบับนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกีดกั้นการทำงานของใคร หรือส่งผลกระทบต่อประชาชน ตรงกันข้าม จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีศักยภาพ โดยให้เพิ่มชั่วโมงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กู้ภัย โดยจะประสานโรงเรียนแพทย์ให้ช่วยเรื่องการอบรมด้วย การกำหนดให้รถกู้ชีพมีมาตรฐานแบบเดียวกันทั่วประเทศ เบื้องต้นกำหนดเฉพาะสีรถก่อน ให้ใช้สีเขียวมะนาวเพื่อให้สังเกตได้แต่ไกล ประชาชนสามารถรู้ได้ว่านี่เป็นรถกู้ชีพ มีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานในการกู้ชีพ โดยเฉพาะเรื่องการประสานกับทีมแพทย์ในโรงพยาบาลในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้วย ทั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งยังช่วยคุ้มครองคนทำงานด้วย และเชื่อว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหากู้ชีพแย่งรับผู้ป่วยและเรียกรับเงินได้อีกด้วย เบื้องต้นประกาศนี้ออกมาจะใช้ในนำร่องในบางพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน

“เรื่องการช่วยชีวิต และส่งต่อนั้น ยืนยันว่า ประกาศนี้คนที่ทำอยู่เดิมก็ทำไป ส่วนคนที่เข้ามาใหม่ต้องเป็นไปตามประกาศ ซึ่งอนาคตจะมีการตรวจและรับรองคุณภาพของหน่วยกู้ชีพ เหมือนกับการตรวจรับรองคุณภาพมาตรฐานของรพ. ซึ่งหน่วยที่จะผ่านเกณฑ์ได้ต้องมีคนที่มีคุณภาพ มีแผนการทำงาน มีรถกู้ชีพที่มีคุณภาพได้ ตอนนี้สิ่งที่รับรองให้ประชาชนอุ่นใจว่าที่วิ่งตามท้องถนนอยู่นั้นเป็นรถกู้ชีพจริงๆ คือใช้แอพพลิเคชั่นของ สพฉ. ตรวจสอบ ทะเบียนรถ หรือยิงบาร์โค๊ดของรถก็ได้ ทั้งหมดนี้ทำเพื่อยกระดับมาตรฐานการกู้ชีพ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งนั้น” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น