“ทวิตเตอร์” อาณาจักรรวมสายดาร์ก แหล่งแพร่คลิปโป๊ เซ็กซ์ทอย และยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ นักวิชาการ ชี้ เป็นสื่อที่มีความเฉพาะกลุ่มสูง ไม่สาธารณะเท่าโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทำให้ดูมีปัญหามากกว่า รับควบคุมยาก จิตแพทย์ระบุคนใช้งานคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว จึงทำอะไรก็ได้ เตือนขายยาทางโซเชียลผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สื่อลามกอนาจารต่างๆ นอกจากเผยแพร่อยู่ในหลายเว็บไซต์แล้ว จะพบว่ามีการเผยแพร่มากขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในสื่อ “ทวิตเตอร์” ที่ดูเหมือนจะมีการเผยแพร่มากกว่าสื่อโซเชียลมีเดียตัวอื่นๆ เรียกได้ว่า แทบเป็นอาณาจักรของสื่อสายดาร์กเลยก็ว่าได้ โดยมีทั้งการเผยแพร่ภาพโป๊ คลิปโป๊ คลิปการมีเพศสัมพันธ์แบบต่างๆ คลิปการช่วยเหลือตัวเอง รวมไปถึงการขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ (เซ็กซ์ทอย) และยาเสริมสมรรถภาพทางเพศผิดกฎหมายต่างๆ ก็มีเป็นจำนวนมาก
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อน ว่า ทุกสื่อมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งสื่อสารดาร์กยอมรับว่าก็มีเยอะมาก ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ก็มีอยู่เช่นกัน ส่วนสมมติฐานที่ว่า “ทวิตเตอร์” เป็นแหล่งรวมสายดาร์กมากกว่าสื่ออื่นๆ นั้น ตนมองว่า “ทวิตเตอร์” แม้จะมีประชากรผู้ใช้น้อยกว่าสื่ออื่น แต่เป็นสื่อที่มีความเฉพาะกลุ่มมาก เช่น กลุ่มคนที่มีความสนใจพิเศษ ก็จะมาอยู่รวมกันในทวิตเตอร์มาก เรียกว่าเป็นสังคมเกือบเฉพาะกลุ่ม และด้วยลักษณะของทวิตเตอร์ที่โพสต์รูปได้เพียง 4 รูป ต่างจากเฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพได้เป็นอัลบัม หรือวิดีโอที่มีการจำกัดเวลา การพิมพ์ข้อความที่มีตัวอักษรจำกัด ความเฉพาะนี้เองทำให้เกิด 2 นัยยะ คือ เป็นสื่อที่มีความเฉพาะเจาะจง และไม่เป็นสาธารณะมากเท่ากับสื่อโซเชียลตัวอื่น
“โดยธรรมชาติแล้วสื่อดิจิทัลเป็นสื่อที่ควบคุมได้ยาก ต้องใช้พนักงาน เจ้าหน้าที่มหาศาลเพียงใดในการไล่จับ ไล่ปิดสื่อสายดาร์กเหล่านี้ ถือเป็นช่องโหว่ในการกำกับ แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ซึ่งถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และสื่อออนไลน์ที่เข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งในโลกก็ตาม ตรงนี้จะกลับมาสู่เรื่องของความรู้เท่าทันในสื่อดิจิทัล (Digital Literacy) คือ คนใช้งานต้องรู้เท่าทันด้วย รู้รับผิดชอบตัวเราเองๆ ไม่ว่าจะโพสต์อะไร ค้นหาข้อมูลอะไร หรือการใช้เฮดสปีช ก็ต้องรู้เท่าสื่อ รู้เท่าทันใจตนเอง ซึ่งความรับผิดชอบเหล่านี้ครอบครัวก้ต้องช่วยกันสอนและปลูกฝังด้วย” ดร.สิขเรศ กล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะจิตแพทย์ กล่าวว่า การถ่ายคลิปลามกลงในโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่จะมี 2 ประเด็น คือ 1. บางคนรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะมีการบล็อกหรือสกรีนคนที่จะเข้ามาอยู่แล้ว ไม่ได้คิดทำเป็นสาธารณะเต็มรูปแบบ ซึ่งธรรมชาติเมื่อคนคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวก็จะสามารถทำอะไรก็ได้ เพราะเป็นความสุขส่วนตัว บางคนถึงขั้นมีเป็นคอลเลกชันภาพหรือคลิป ทั้งที่จริงไม่ใช่มุมปิดเลย แต่ถือว่าเป็นสาธารณะได้ตลอด รูปภาพหรือคลิปสามารถหลุดรอดออกไปได้ ก็จากคนที่อยู่ในกลุ่มและไม่เหมือนอดีตที่จะไปตามฟิล์มกลับมาแล้วจบ แต่สามารถแพร่กระจายไปได้ในวงกว้างและจะอยู่ไปได้อีกนาน และ 2. การได้ประโยชน์บางอย่างจากการโชว์ เช่น มีความสุข ทำแล้วได้รับความสนใจ ได้รับการตอบรับ หรือบางคนต้องการได้งานแนวนี้โดยไม่ต้องผ่านแมวมอง บางคนก็ทำกันเป็นอาชีพสร้างเว็บไซต์ชัดเจนมีรายได้จากการนำเสนอตัวเอง
“อยากให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์ตระหนักว่า รูปหรือคลิปเมื่อเผยแพร่ออกไปอยู่ได้นานกว่าที่เราคิด ไม่ได้อยู่ในวงปิดอย่างที่คิดด้วย เพราะกระจายออกไปได้กว้างกว่า และอาจมีคนอื่นเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ทั้งแบบตรงไปตรงมาและแบบอ้อม และต้องพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงที่ตามมาจากการกระทำด้วย ทั้งนี้ คนที่ชอบโชว์แล้วมีความสุขที่ได้รับการตอบรับหรือการยอมรับ ก็มีความเป็นไปได้ที่ในชีวิตจริงเขาอาจไม่มีความสุขหรือไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งอยากให้ใช้สื่อโซเชียลไปในทางสร้างสรรค์ เช่น ใช้เป็นช่องทางในการรวมตัวกับกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกัน สนใจเหมือนกัน ก็จะช่วยให้เกิดการพูดคุยและมีความสุขได้ และใช้แบบเข้าใจเพื่อเสริมทักษะความสามารถบางอย่างที่เรามี ก็เป็นการใช้ให้เกิดประโยชน์รูปแบบหนึ่งโดยไม่ต้องกังวลผลลัพธ์ด้านลบที่จะตามมา” พญ.พรรณพิมล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการขายยาในสื่อสังคมออนไลน์ ถือว่าผิด พ.ร.บ. ยา เนื่องจากยาไม่ใช่สินค้าปกติ ไม่อนุญาตให้ขายในเว็บไซต์ หรือนอกสถานที่จัดจำหน่ายยาได้ โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต และต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น เพราะมีการกำหนดประเภทของยาไว้อย่างชัดเจน เช่น ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น เป็นต้น ซึ่งกฎหมายอนุโลมให้จำหน่ายได้เฉพาะยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยา โดยวัตถุประสงค์ของการจำหน่ายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาต เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย และทราบผลข้างเคียงจากการใช้ยา จึงต้องมีเภสัชกรประจำร้าน เพื่อทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพ ในการซักถามประวัติ อาการ การแพ้ยา เป็นต้น ดังนั้น การขายยาทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์จะมีความผิดคือ ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ หากมีใบอนุญาต ก็ยังมีความผิดฐานขายยานอกสถานที่ที่กฎหมายกำหนด และ การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย