xs
xsm
sm
md
lg

“หุ่นหลวง-พระมหาชนก” มหรสพสมโภชออกพระเมรุมาศ ในหลวง รัชกาลที่ ๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในการจัดแสดงมหรสพสมโภช เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้รื้อฟื้นการแสดง หุ่นหลวง ที่ได้สูญหายไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นำมาจัดควบคู่กับการแสดงหุ่นกระบอก ถือเป็นการแสดงครั้งประวัติศาสตร์

นายชวลิต สุนทรานนท์ นักวิชาการละครและดนตรีทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า การแสดงหุ่นหลวง จัดแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน หนุมานเข้าห้องนางวานนรินทร์ ทั้งนี้ การซักซ้อมการเชิดหุ่นหลวง การร่ายรำ เคลื่อนไหวท่วงท่าตามรูปแบบนาฏศิลป์ไทย ให้มีความพร้อมเพรียง ผู้เชิดต้องมั่นฝึกฝนการใช้นิ้วบังคับเส้นใยที่ร้อยเรียง 20 เส้นอย่างหนัก หุ่นหลวงเป็นมหรสพที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่สูญหายไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากตัวหุ่นมีขนาดใหญ่ มีเส้นใยที่ใช้เชิดจำนวนมาก เพราะฉะนั้นผู้เชิดต้องสุขภาพแข็งแรง มีความรู้ความสามารถสูงเรื่องการรำ ทั้งนี้ กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ รื้อฟื้นศึกษา และจัดสร้างหุ่นขึ้นใหม่เมื่อปี 2559 จำนวน 3 ตัว ประกอบด้วย หุ่นพระ หุ่นนาง และ หุ่นหนุมาน ในงานมหรสพสมโภชครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสืบทอดมหรสพหุ่นหลวงนับแต่เลือนหายไป อีกทั้งผู้เชิดในการแสดงนี้ได้ศึกษาวิธีเชิดหุ่นจากครู อาจารย์ที่มีประสบการณ์

นายกมล การกิจเจริญ ครูอัตราจ้างโรงเรียนกาญจนาภิเษก วิทยาลัยนครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) ในฐานะผู้กำกับการสร้างหุ่นหลวงและวิธีการร้อยเชือกหุ่นหลวง เล่าให้ฟังว่า กรมศิลปากรจัดทำโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์งานหุ่นหลวง เพื่อให้ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทยทุกคนได้ทอดพระเนตรว่าหุ่นหลวงที่กำลังจะสูญหาย ได้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อทรงเสด็จสวรรคต กรมศิลปากรนำมาแสดงมหรสพ ตามโบราณราชประเพณี

“จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าการแสดงหุ่นหลวงครั้งสุดท้ายในงานออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้น ไม่พบข้อมูลว่ามีการจัดแสดงที่ใดอีก หุ่นหลวงถือเป็นเครื่องราชูปโภค หนึ่งในการแสดงพระบารมีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งประกอบด้วย หนังใหญ่ โขน หุ่นหลวง และ ละครใน หุ่นหลวงเป็นหุ่นในราชสำนักต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวหุ่นจะบังคับการเคลื่อนไหวด้วยเส้นใยโยงที่ร้อยเรียงกัน การจัดสร้างหุ่นหลวงครั้งนี้ได้ยึดแบบตามตำราการสร้างหุ่นหลวงแบบโบราณ พร้อมทั้งศึกษาจากหุ่นหลวงที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” นายกมล กล่าวต่อว่า ตนตั้งใจถ่ายทอดองค์ความรู้การทำหุ่นหลวง ตลอดจนเทคนิคการเชิดหุ่นให้แก่ลูกศิษย์และผู้ที่สนใจ หวังให้ลูกศิษย์นำความรู้ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่นต่อไป

นายไพโรจน์ ทองคำสุข นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการ ผู้แสดงหุ่นหลวงตัวพระ เล่าว่า หุ่นหลวงเป็นหุ่นในราชสำนักต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การบังคับหุ่นให้เคลื่อนไหวด้วยเส้นใย 20 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นจะมีท่วงท่าร่ายรำต่างกัน กลไกการเชิดหุ่นหลวงที่บรรพบุรุษคิดค้นขึ้นมานั้นถือว่าสุดยอดนาฏศิลป์

“การแสดงหุ่นหลวงเรื่องรามเกียรติ์ ตอน หนุมานเข้าห้องนางวานนรินทร์ ในงานออกพระเมรุมาศ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่จะแสดงในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของชาวไทย เนื่องจากกว่า 150 ปีมาแล้ว ที่ไม่มีการจัดแสดงหุ่นหลวง” นายไพโรจน์ กล่าว

นอกจากการแสดงหุ่นหลวง กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต จัดแสดงละครรำ เรื่องพระมหาชนก พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย น.ส.วันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย สำนักการสังคีต ในฐานะผู้กำกับการแสดง ควบคุมการซ้อม กล่าวว่า นำบทที่อาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ ได้รับพระบรมราชานุญาตจัดทำบทและบรรจุเพลงมาแสดง ประกอบด้วย การแสดงทั้งหมด 7 ฉาก คือ ฉากที่ 1 ศาลาริมทาง ฉากที่ 2 ภาพนิ่งประกอบคำบรรยาย ฉากที่ 3ภายในเรือนที่พัก ฉากที่ 4 บนเรือสำเภา ฉากที่ 5 กลางมหาสมุทร ฉากที่ 6 อุทยานมีต้นมะม่วงใหญ่ และฉากที่ 7 ท้องพระโรงเมืองมิถิลา ซึ่งทุกฉากล้วนมีความสำคัญ เป็นการถ่ายทอดคติสอนใจ คุณธรรม จริยธรรม พร้อมกันนี้ ในการแสดงละครกรมศิลปากรมักจะสอดแทรกระบำเพื่อให้เกิดอรรถรสและความงดงาม อีกทั้งสอดแทรกบทตลกผู้แสดงเป็นเทวดาออกมาเล่าเรื่องราวพระมหาชนกเพื่อให้การดำเนินเรื่องกระชับและรู้เรื่องมากยิ่งขึ้น

น.ส.วันทนีย์ กล่าวว่า มีฉากสำคัญ 2 ฉาก ได้แก่ ตอนพระมหาชนกแหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทร และได้สนทนาธรรมกับนางมณีเมขลา กับฉากอุทยานมีต้นมะม่วงใหญ่ ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล เป็นฉากที่ทำให้เกิดพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก เพราะในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ขณะนั้นเทศนาเรื่องต้นมะม่วง 2 ต้น ทำให้เห็นว่าสิ่งใดดีมีคุณภาพจะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายเมื่อตกอยู่ท่ามกลางผู้ขาดปัญญา พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย ศึกษาค้นคว้าเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตรงจากมหาชนกชาดกตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ละครเรื่องพระมหาชนกเคยแสดงเมื่อปี 2540 ในงานวันข้าราชการพลเรือน โดยมอบให้นายเสรี เป็นผู้จัดทำและกำกับการแสดง เป็นครั้งปฐมฤกษ์ จากนั้นได้นำมาจัดแสดงในงานสำคัญๆ อีกหลายครั้ง รวมถึงครั้งนี้ด้วยซึ่งจะจัดแสดงวันที่ 26 ต.ค. ที่ สนามหลวง






กำลังโหลดความคิดเห็น