xs
xsm
sm
md
lg

“ฮิคิโคโมริ” อีกด้านของระบบการศึกษาญี่ปุ่นที่ไทยควรระวัง! / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องระบบโรงเรียนของญี่ปุ่นด้วยความชื่นชมต่อๆ กันไปเป็นจำนวนมาก ประมาณว่าแชร์วนๆ ไปแล้วก็วนกลับมาใหม่ในหลากหลายช่องทาง ส่วนใหญ่จะออกแนวชื่นชมทั้งเรื่องการเรียนการสอน การฝึกทักษะชีวิตในหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องการเอาชีวิตรอดเมื่อต้องเจอะเจอสถานการณ์ต่างๆ การฝึกความมีวินัย ฯลฯ

ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะถ้าใครเคยไปประเทศญี่ปุ่น จะพบเห็นเด็กญี่ปุ่นตามแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนบ่อยมาก มีคุณครูพาหนูน้อยวัยอนุบาลไปทัศนศึกษาตามสถานที่ต่างๆ มีกระบวนการจัดการ และวิธีฝึกทักษะการเรียนรู้ที่น่าสนใจยิ่ง ดิฉันเองก็เคยสังเกตการณ์ พบเห็นความละเอียดละออและใส่ใจในรายละเอียดต่อการฝึกเด็กในบ้านเขาแทบจะทุกขั้นตอน และแน่นอน เหล่านี้เป็นภาพที่สวยงาม และสร้างความประทับใจไปทั่วโลก

แต่กระนั้นก็ตาม ก็มีด้านที่ไม่สวยงามและกลายเป็นปัญหาใหญ่ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน ! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเรื่องการแข่งขันที่สูงมาก พ่อแม่มักจะเข้มงวดเรื่องการเรียนของลูกอย่างหนัก เรียกว่าบางครอบครัวลูกต้องเดินตามแนวทางที่พ่อแม่ขีดเส้นให้เดินกันเลยทีเดียว จนทำให้เด็กเกิดความกดดัน และกลายเป็นอาการป่วยในที่สุด

อาการป่วยที่กำลังกลายเป็นปัญหาอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า “ฮิคิโคโมริ”

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยผลสำรวจล่าสุด พบว่า ปัจจุบันมีคนญี่ปุ่นที่มีอาการฮิคิโคโมริมากถึง 2 - 3 ล้านคน โดยในอดีตมีกลุ่มเด็ก และกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นฮิคิโคโมริมากที่สุด แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มอายุเฉลี่ยของคนที่เป็นฮิคิโคโมริเพิ่มมากขึ้น

ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “ฮิคกี้” เป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายถึงพฤติกรรมของเด็กที่แยกตัวออกมาจากสังคม พยายามพบเจอผู้คนให้น้อยที่สุด มักจะเก็บตัวในห้องส่วนตัว หรือในบ้านเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่ยอมไปโรงเรียน ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็อาจจะอ่านหนังสือการ์ตูน เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ดูทีวี หรืออาจจะนั่งเฉยๆ อยู่ในห้องคนเดียวได้เป็นเดือนๆ เป็นปีๆ หรือหลายๆ ปี

ฮิคิโคโมริไม่ใช่โรคใหม่ จำได้ว่าเคยได้มีโอกาสพูดคุยกับนักจิตวิทยา ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น และมีแนวโน้มที่จะเกิดกับประเทศที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกันอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย หนำซ้ำยังเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และฉายในบ้านเราด้วย

ก่อนหน้านี้ นักจิตวิทยาญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า ฮิคิโคโมริเกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และมิใช่โรคทางจิตเวช !

เหตุผลที่ได้รับการวิเคราะห์ว่าเกิดเฉพาะในญี่ปุ่น เพราะระบบการศึกษาในญี่ปุ่นเคี่ยวเข็ญเด็กอย่างเอาเป็นเอาตาย การเรียนการสอนก็เป็นบรรยากาศของการแข่งขันที่เริ่มตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนกระทั่งโต การสอบแข่งขันในแต่ละครั้ง เด็กๆ ได้รับความกดดันสูงมาก

อีกทั้งญี่ปุ่นก็มีระบบการจ้างงาน มีวัฒนธรรมการทำงานที่เรียกร้องให้คนทำงานหนักมากจนถึงหนักที่สุด ประกอบกับเคยผ่านความบอบช้ำมาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้โครงสร้างเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

อาการฮิคิโคโมริ ถูกกระตุ้นให้เห็นอย่างชัดเจน เนื่องเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีระดับต้น ๆ ของโลก ทั้งชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น มีทั้งโทรทัศน์ เกม คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทำให้เด็กฮิคิโคโมริสามารถขังตัวเองอยู่ในห้องได้นานขึ้น

สาเหตุที่คนเป็นฮิคิโคโมริกลัวการเข้าสังคม เพราะมีปมที่มาจากหลากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะการถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนหรือคนรอบข้าง นักเรียนบางคนพูดไม่เก่ง ไม่กล้าปฏิเสธ ยอมคน และมีอารมณ์อ่อนไหวกับคำวิจารณ์มาก เจ็บปวดยอมรับไม่ได้ จึงเลือกที่จะหนีปัญหาแทน โดยการการหนี และค่อยๆ ทำตัวให้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่าเป็นความหวาดกลัวสังคมอย่างรุนแรง สภาพจิตใจเต็มไปด้วยความทรมาน แต่ต้องเก็บทนเอาไว้ บางรายมีอาการหมกมุ่น วิตกจริต และเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้

ครอบครัวของเด็กที่มีอาการฮิคิโคโมริมักจะอับอายที่ลูกมีอาการนี้ เมื่ออับอายก็ซ่อน เมื่อซ่อนก็เท่ากับหมักหมมปัญหา ทำให้อาการของเด็กรุนแรงมากขึ้นและยากต่อการเข้าช่วยเหลือ

หันกลับมามองบ้านเรา แม้จะยังไม่มีการพูดถึงเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้ แต่ด้วยรูปแบบและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของเด็กๆ ในบ้านเราที่มุ่งสู่แนวทางระบบการศึกษาแบบแข่งขันทุกรูปแบบ การแก่งแย่งเพื่อเป็นที่หนึ่งก่อตัวอย่างรวดเร็ว และด้วยเทคโนโลยีสารพัดที่ถาโถมเข้าใส่เด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ประกอบกับพ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก เราจะพบเห็นเด็กจำนวนมากที่เริ่มปลีกตัวจากสังคม และอยากอยู่คนเดียวโดยไม่สนใจผู้อื่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ใช่ว่าบ้านเราจะไม่มีโอกาสที่เด็กจะเป็นโรคนี้กันนะคะ ก็ได้แต่ฝากคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาได้นำเข้าไปเป็นข้อสังเกตเพื่อพิจารณาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น