xs
xsm
sm
md
lg

ต่อรองราคายาโครงการพิเศษปี 61 ประหยัดได้ 52 ล้านบาท ยันยาไม่ขาดแน่นอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช. รับทราบผลต่อรองราคายาโครงการพิเศษปี 61 ลดราคายาได้ 21 รายการ ประหยัดงบกว่าเดิม 52.9 ล้านบาท ยันยาต้านเอชไอวี - น้ำยาล้างไต ไม่ขาดแน่นอน เผย ยังใช้ได้ถึง พ.ย. นี้ ชี้งบประมาณใหม่มาต้น ต.ค. จัดซื้อได้ทันแน่ หากไม่ทันมียาสำรองคงคลังปี 60

วันนี้ (2 ต.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีวาระการพิจารณาเรื่อง “ความก้าวหน้าการจัดหา ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษปีงบประมาณ 2561” โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานการพิจารณาแผน การต่อรองราคายา และการจำหน่าย หรือทำลายยาหมดอายุในกลุ่มยากำพร้า หรือยาบางรายการที่มีอัตราผู้ป่วยน้อย แต่มีความจำเป็นต้องสำรอง ของคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษปี 2561

นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผลการพิจารณาการต่อรองราคายาและการปรับแผนการจัดหายาและเวชภัณฑ์ปี 2561 มีทั้งหมด 9 โครงการ รวมทั้งหมด 124 รายการ ประกอบด้วย 1. ยาบัญชี จ2 จำนวน 24 รายการ ราคาลดลง 4 รายการ เท่าเดิม 16 รายการ เพิ่มขึ้น 2 รายการ อยู่ระหว่างต่อรอง 2 รายการ ประหยัดจากปี 2560 รวม 2.5 แสนบาท 2. ยาหัวใจและหลอดเลือด 1 รายการ ราคาเท่าเดิม 3. ยากำพร้าและยาต้านพิษ 16 รายการ ราคาเท่าเดิม 4. ยารักษาวัณโรค 15 รายการ ราคาลดลง 1 รายการ ราคาเท่าเดิม 14 รายการ ประหยัด 2.5 หมื่นบาท

5. วัคซีน 14 รายการ ราคาลดลง 6 รายการ ราคาเท่าเดิม 6 รายการ ราคาเพิ่มขึ้น 1 รายการ อยู่ระหว่างต่อรองราคา 1 รายการ สามารถประหยัด 17 ล้านบาท 6. ยาต้านไวรัสเอชไอวี 35 รายการ ราคาลดลง 2 รายการ ราคาเท่าเดิม 33 รายการ ประหยัด 2.4 ล้านบาท 7. ถุงยางอนามัย 4 รายการ อยู่ระหว่างต่อรองราคาทั้งหมด 8. น้ำยาล้างไต 11 รายการ ราคาลดลง 8 รายการ ราคาเท่าเดิม 3 รายการ ประหยัด 32 ล้านบาท และ 9. อุปกรณ์อวัยวะเทียม (สายสวนหัวใจ) 4 รายการ อยู่ระหว่างการต่อรองราคาทั้งหมด สรุปสามารถต่อรองราคาได้ทั้งหมด 21 รายการ ราคาเท่าเดิม 89 รายการ ราคาเพิ่มขึ้น 4 รายการ และอยู่ระหว่างต่อรองราคาอีก 11 รายการ สามารถประหยัดงบประมาณจากปี 2560 รวม 52.9 ล้านบาท

นพ.จักรกริช กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบสินค้าคงคลังสิ้นปีงบประมาณ 2560 ร่วมกันระหว่าง สปสช. เครือข่ายหน่วยบริการ รพ.ราชวิถี และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อส่งมอบความรับผิดชอบให้กับเครือข่ายหน่วยบริการ รพ.ราชวิถี ดำเนินการต่อปี 2561 พบว่า รายการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังนี้ 1. วัคซีน 14 รายการ รวม 552 ล้านบาท 2. ยาบัญชี จ2 จำนวน 24 รายการ รวม 490 ล้านบาท 3. ยาต้านไวรัสเอชไอวี 35 รายการ รวม 429 ล้านบาท 4. ยารักษาวัณโรค 16 รายการ รวม 125 ล้านบาท 5. ยากำพร้าและยาต้านพิษ 16 รายการ รวม 41 ล้านบาท 6. น้ำยาล้างไตและ EPO 18 รายการ รวม 63 ล้านบาท 7. ถุงยางอนามัย 4 รายการ รวม 6.6 ล้านบาท 8. ยาหัวใจและหลอดเลือด 1 รายการ รวม 2.2 ล้านบาท 9. เข็มฉีดยาสำหรับวัคซีน 10. เข็มฉีดยา EPO และ 11. อุปกรณ์ใช้ประกอบการบำบัดทดแทนไตทางหน้าท้อง รวมทั้งหมด 1.7 พันล้านบาท

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาที่ห่วงใยจะเกิดการขาดยาสำหรับผู้ป่วยเอชไอวี เป็นในช่วงที่ระบบเดิมดำเนินการอยู่ สาเหตุมาจากบริษัทผู้ผลิตไม่ได้ส่งยาบางตัวและปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ยาส่งหน่วยบริการลดลง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวมทุกสิทธิ์การรักษาไม่เฉพาะบัตรทอง และมีการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยยืนยันไม่มีปัญหาการขาดยาแน่นอน รวมถึงน้ำยาฟอกไตและยาโรคไตในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งจากการพูดคุยกับ อภ. ยาที่ซื้อเพิ่มไปสามารถใช้ได้ถึง พ.ย. นี้ และเมื่องบประมาณปร 2561 มาซึ่งปกติจะมาช่วงสัปดาห์แรกของ ต.ค. ก็สามารถดำเนินการจัดซื้อตามกระบวนการได้ทันที แต่เบื้องต้นได้ตกลงกับทาง อภ.แล้วว่า กรณีงบประมาณมาไม่ทัน จะยืมยาจากทาง อภ. ก่อน แต่ยืนยันว่า ยามีพอ ไม่เกิดสถานการณ์ขาดยาแน่นอน

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านหน่วยงานจัดซื้อยา อาจทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวล แต่ยืนยันว่า ผู้ป่วยไม่ขาดยาแน่นอน ส่วนที่ผู้ป่วยกังวลว่ายาขาดคือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี “อะบาคาเวียร์” สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาทีโนโฟเวียร์ไม่ได้ และเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่ติดเชื้อนั้น ยานี้เกิดปัญหาขาดแคลนทั่วโลก เนื่องจากผู้ผลิตผลิตยาไม่ทัน แต่ตอนนี้แก้ไขปัญหาได้แล้ว มียาพอสำหรับผู้ป่วย ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนหน่วยงานจัดซื้อแต่อย่างใด ตามกระบวนการจะคงคลังไว้ 2 เดือนอยู่แล้ว ในภาพรวมคุมได้อยู่ ผู้ป่วยและหน่วยบริการอาจจะมีกังวลบ้างในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่จะไม่ได้รับผลกระทบ

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ. ได้เตรียมน้ำยาล้างไตไว้พร้อมแล้ว ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าอาจมียาต้านไวรัสเอชไอวีบางตัวมีการชะงักงันในการกระจายยาให้โรงพยาบาลนั้น เนื่องมาจากข้อขัดข้องของผู้ผลิต ไม่ได้เกิดจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในระบบใหม่แต่อย่างใด อภ.ได้ประสานงานกับบริษัทผู้ผลิต และได้เตรียมการผลิตในส่วนของ อภ. เอง ยืนยันว่า จะมียาใช้และสามารถรักษาผู้ป่วยจนอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนในทุกสิทธิ์การรักษา ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น