“โรคสะเก็ดเงิน” เป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มักเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการอักเสบร่วมกับมีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ จนเป็นผื่นผิวหนังมีอาการแดง ขุยหนา และคัน ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งโรคที่อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้อย่างหลากหลาย
หากว่าผู้ป่วยละเลยต่อการดูแลตนเอง โดยหนึ่งในโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ “โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน” ซึ่งมีข้อมูลว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมากถึงร้อยละ 30 มีอาการแทรกซ้อนเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ซึ่งช่วงอายุของผู้ป่วยที่พบได้บ่อย คือ 30 - 50 ปี ในอัตราเฉลี่ยที่เท่ากันทั้งเพศหญิงและชาย ด้วยเหตุนี้การให้ความสำคัญต่อการสังเกตและดูแลตนเองเพื่อลดอัตราเสี่ยงจากโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงนับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตและให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
รศ.พญ.ปวีณา เชี่ยวชาญวิศวกิจ สาขาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีการอักเสบของข้อต่อรวมกับผื่นผิวหนังของโรคสะเก็ดเงินไปพร้อมกัน ทั้งยังคาดว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการติดเชื้อบางอย่าง เป็นต้น โดยอาการสำคัญของโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1. ข้อรยางค์อักเสบ ได้แก่ ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ เข่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวม ทำให้ต้องเคลื่อนไหวข้อลดลง มักมีอาการข้อฝืดขยับยากตอนเช้า และเมื่อขยับข้อหลายครั้ง อาการปวดขัดจะค่อยๆ น้อยลง
2. เส้นเอ็นหรือกระดูกที่ยึดเกาะเส้นเอ็นอักเสบ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ เอ็นร้อยหวายใต้ฝ่าเท้า หากข้อนิ้วยึดติดร่วมกับเส้นเอ็นรอบข้อที่อักเสบก็จะสังเกตได้ว่าบริเวณข้อนั้นๆ จะมีลักษณะรูปร่างคล้ายๆ ไส้กรอก
3. กระดูกสันหลังหรือข้อกระเบนเหน็บอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเมื่อนั่ง นอน หรืออยู่นิ่ง เป็นเวลานาน รู้สึกหลังฝืดตึงขยับยากในตอนเช้า และอาการจะดีขึ้นเมื่อขยับหรือเคลื่อนไหวหลัง หรือ มีอาการปวดก้นบริเวณข้างซ้ายและสลับไปข้างขวา เป็นต้น
อาการของโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยด้วยอาการปวดอักเสบที่มากจนรบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อปล่อยให้มีอาการเรื้อรังในระยะยาว ด้วยการละเลยต่อการรักษา การรับการรักษาที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลให้ข้อติดกัน ข้อถูกทำลาย ทั้งในข้อประเภทรยางค์และข้อกระดูกสันหลัง จนก่อให้เกิดความพิการตามมาได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
“ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินสามารถตรวจสอบตนเองได้ง่ายๆ ว่ามีอาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินได้จาก คำถามทดสอบ 3 ข้อ ดังนี้ 1. ต้องตื่นกลางดึกเนื่องจากอาการปวดหลังส่วนล่าง 2. ข้อมือและนิ้วบวมหรือเคยมีอาการบวม และ 3. มีอาการปวดหรือเคยปวดบริเวณส้นเท้า กรณีผู้ป่วยเคยมีอาการใด อาการหนึ่งจากใน 3 ข้อนั้น ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที เพื่อจะได้รับคำแนะนำสู่ขั้นตอนการักษาที่ถูกต้องโดยจะมีทั้งการรักษาด้วยยาลดการอักเสบและอาการปวดข้อ การดูแลตนเองเบื้องต้นผ่านการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อและกล้ามเนื้อ การพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น” รศ.พญ.ปวีณา กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ญาติ ผู้ดูแล ที่ต้องการทราบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน การดูแล การรักษา หรือรับคำปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด สามารถเข้าร่วมงาน “ศิริราชห่วงใย เข้าใจสะเก็ดเงิน” ซึ่งนอกจากมีข้อมูลที่น่าสนใจแล้วยังมีกิจกรรมถาม - ตอบลุ้นรางวัลอีกมากมายอีกด้วย โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราช สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ฟรีที่ 02-411-1531 ในวันและเวลาราชการ