อ.นพ.ไตรภูมิ สุวรรณเวช
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
เวลาเราไอทุกครั้งจะรู้สึกรำคาญ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ไอมากๆ จะรู้สึกเหนื่อยหอบนอนไม่หลับกันเลยทีเดียว แล้วอาการไอแบบไหนที่จะเป็นตัวชี้วัดและบ่งบอกโรคกับเราได้มาไขข้อข้องใจกัน
อาการไอเป็นปฏิกิริยาอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่เสมือนกลไกป้องกันตัวเองของระบบทางเดินหายใจให้ขับเอาเชื้อโรค หรือสิ่งที่อุดกั้นทางเดินหายใจออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด
อาการไอสามารถแบ่งตามระยะเวลาออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. อาการไอฉับพลัน คือ เริ่มมีอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ลำคอ และกล่องเสียง เช่น หวัด ไซนัสอักเสบชนิดฉับพลัน คอหรือกล่องเสียงอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือสัมผัสกับควันบุหรี่ ควันไฟ มลพิษทางอากาศ เป็นต้น
2. อาการไอเรื้อรัง คือ มีอาการไอนานมากกว่า 3 - 8 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรควัณโรค โรคหืด อาจเกิดจากไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง โรคกรดไหลย้อน และการใช้เสียงมากทำให้สายเสียงอักเสบเรื้อรัง รวมถึงเนื้องอกบริเวณลำคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม โรคสมองในส่วนที่ควบคุมการไอ นอกจากนี้ อาจเป็นผลข้างเคียงของการรับประทานยาบางชนิดได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาการไอที่เกิดจากโรคที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจส่วนบนมักจะอันตราย หรือมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคที่มาจากทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งแพทย์ก็จะต้องวินิจฉัยและแยกโรคให้กับผู้ป่วยต่อไป
เมื่อเกิดอาการไอควรประเมินความรุนแรงของอาการไอ ถ้าเป็นอาการไอที่รุนแรง หอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก ไอเป็นเลือด มีไข้สูง เช่น ไอรุนแรงจนเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เจ็บคอเหมือนมีก้อนเนื้ออยู่ในลำคอ หรือไอนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการซักประวัติและตรวจร่างกายในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างและอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของไซนัสและปอด การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจ การตรวจเสมหะ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด
ส่วนการรักษาแพทย์จะรักษาตามสาเหตุ โดยขึ้นอยู่กับคนไข้ในแต่ละรายไป เช่น กรณีสาเหตุเกิดจากหวัด หลอดลมอักเสบ ไอไม่มากมักให้ยารับประทานไปก่อน หรือกรณีไอมีเสมหะข้นมาก จะถูกขับออกจากหลอดลมได้ยาก ก็จะให้ยาละลายเสมหะ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียก็จะให้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการไอเพียงเล็กน้อย แนะนำการปฏิบัติตัวง่ายๆ เพื่อลดอาการไอได้ด้วยตัวเอง อาทิ งดของเย็น ของทอด ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อช่วยลดความข้นของเสมหะ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอมากขึ้น เช่น สารเคมี บุหรี่ มลพิษทางอากาศ สารก่อการระคายเคืองต่างๆ ที่สำคัญ เวลาไอควรปิดปากทุกครั้งเพื่อเป็นการลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
////
กิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
# ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดงาน “ศิริราชห่วงใย เข้าใจสะเก็ดเงิน” เนื่องในวันสะเก็ดเงินโลกในวันที่ 4 ตุลาคม 2560 เวลา 10.30 - 12.00 น. ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ และ เวลา 13.00 -15.00 น. ณ ห้องประชุมประชา โมกขะเวส ตึกผู้ป่วยนอกชั้น 4 รพ.ศิริราชขอเชิญผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินและประชาชนผู้สนสนใจร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2 411 1531
# ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดโครงการอบรมให้ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง “ใส่ใจ สูงวัย ประเทศไทย 4.0” วันที่ 4 ตุลาคม 2560 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 รพ.ศิริราช ขอเชิญผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้สนใจร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งล่วงหน้า โทร. 0 2419 4293 (นิภาพร ศุภประเสริฐ)