เตรียมปลดล็อก 10 อาชีพสงวนคนไทย ให้ “ต่างด้าว” ทำได้ คงไว้ 27 อาชีพ ยังต้องหารือเพิ่มเติมอีก 2 อาชีพ พร้อมเสนอเพิ่ม 3 อาชีพสงวนใหม่ ทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัย นวดแผนไทย และเจ้าของกิจการ เร่งออกเป็น กม. ภายใน ต.ค. นี้
วันนี้ (26 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. กรมการจัดหางานได้มีการประชุมรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 120 หน่วยงาน เรื่อง “การจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ” โดยมี นายสมบัติ นิเวศน์รัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เป็นประธาน ซึ่งภายในงานมีการแสดงความเห็นหลากหลาย
เมื่อเวลา 14.30 น. นายสมบัติ แถลงข่าวสรุปภายหลังการประชุม ว่า อาชีพสงวนสำหรับคนไทย 39 อาชีพ อาชีพใดควรสงวนให้คนไทยทำต่อไปหรืออาชีพใดควรเปิดกว้างให้แรงงานต่างด้าวทำได้นั้น ได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ การปลดล็อก 10 อาชีพให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ คือ 1. งานกรรมกร 2. งานกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญเฉพาะสาขา งานควบคุมฟาร์ม หรืองานกรรมกรในเรือประมงทางทะเล 3. งานก่ออิฐ ช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น 4. งานขายของหน้าร้าน 5. งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย 6. งานทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 7. งานทำรองเท้า 8. งานทำหมวก 9. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย และ 10. งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา ทั้งนี้ มีข้อแม้ว่าจะต้องเข้ามาทำงานในลักษณะของการเป็นลูกจ้างเท่านั้น ห้ามเป็นเจ้าของกิจการเองเด็ดขาด
นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนอาชีพที่ยังจำเป็นจะต้องสงวนเอาไว้ให้คนไทยทำ คือ 1. งานแกะสลักไม้ 2. งานขับขี่ยานยนต์หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช่เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ 3. งานขายทอดตลาด 4. งานควบคุมตรวจสอบหรือให้บริการทางบัญชี 5. งานตัดผมงานดัดผมหรืองานเสริมสวย ยกเว้นให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นลูกจ้างในร้านได้ 6. งานทอผ้าด้วยมือ 7. งานทอเสื่อหรืองานทำเครื่องไม้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่ 8. งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9. งานทำเครื่องเขิน 10. งานทำเครื่องดนตรีไทย 11. งานทำเครื่องถม 12. งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก 13. งานทำเครื่องลงหิน 14. งานทำตุ๊กตาไทย 15. งานทำบาตร 16. งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ 17. งานทำพระพุทธรูป 18.งานทำร่มกระดาษหรือผ้า
19. งานนายหน้าหรืองานตัวแทนยกเว้นงานหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ 20. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณจัดระบบวิจัยวางโครงการทดสอบควบคุมการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำทั้งนี้ไม่รวมงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ 21. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบเขียนแบบประมาณราคาอำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ 22. งานมวนบุหรี่ด้วยมือ 23. งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว 24. งานแรกขายสินค้า 25. งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 26. งานสาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ และ 27. งานให้บริการทางกฎหมาย หรืออรรถคดี ยกเว้นงานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการ และงานว่าต่างแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่กฎหมายซึ่งบังคับใช้แก่ข้อพิพาทที่พิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทยหรือเป็นกรณีที่ไม่ต้องขอบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นในราชอาณาจักรไทย
“สำหรับอีก 2 อาชีพที่ยังไม่ชัดเจน คือ 1. งานทำมีด และ 2. งานเสมียนหรือเลขานุการว่าจะเปิดให้คนต่างด้าวทำได้หรือไม่ ต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง สำหรับอาชีพที่มีการเสนอให้กำหนดให้เป็นอาชีพสงวนเพิ่มเติมสำหรับคนไทย มี 3 อาชีพ คือ 1. อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย 2. อาชีพนวดแผนไทย โดยผู้แทนกรมสนับสนนุบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า เป็นเรื่องเอกลักษณ์ไทย วิถีชีวิต หากให้คนต่างด้าวมาทำจะทำให้อัตลักษณ์และจริตของไทยที่อนุรักษ์ไว้เสียไป และ 3. อาชีพเจ้าของกิจการ” นายสมบัติ กล่าว
นายสมบัติ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปจะต้องสรุปผลการหารือในครั้งนี้ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพิจารณา ก่อนเสนอ รมว.แรงงาน ต่อไป โดยจะพยายามเร่งรัดให้เสร็จภายใน ต.ค. นี้ พร้อมกับการแก้ไข พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยพิจารณาไปประมาณ 37 มาตรา จับใจความได้ว่า ต้องมีการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเป็นหลัก สิ่งใดที่เป็นภาระของประชานจะถูกยกเลิกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องโทษก็ลดลงในอัตราที่เหมาะสม และยังมีข้อเสนอต่อการปลดล็อกอาชีพสงวนต้องคำนึงถึงการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย การส่งเสริมเอกลักษณ์ไทยด้วย นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกายังได้ให้ความคิดเรื่องการเปลี่ยนนายจ้าง เรื่องลักษณะงาน ที่เคยกำหนดไว้นั้นอาจจะเปลี่ยนให้เป็นเพียงกลุ่มอาชีพเท่านั้น