xs
xsm
sm
md
lg

เกษียณเท่ากับเลิกจ้าง ใช้อายุ 60 ปี เป็นเกณฑ์หากไม่กำหนดอายุ ย้ำใช้สิทธิได้ครั้งเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แจง กม. แรงงานใหม่ “เกษียณเท่ากับเลิกจ้าง” หากไม่มีการกำหนดอายุเกษียณหรือกำหนดเกิน 60 ปี ให้ใช้อายุ 60 ปีเป็นเกณฑ์ ลูกจ้างขอเกษียณอายุการทำงานได้ แต่หากไม่เกษียณก็สามารถทำต่อได้ ย้ำสิทธิขอเกษียณใช้ได้ครั้งเดียว ส่วนที่มีการกำหนดอายุเกษียณก่อน 60 ปี ให้เป็นไปตามเดิม จ่ายชดเชยใช้ 5 ขั้นก่อน รอขยาย 6 ขั้นในปีนี้

วันนี้ (25 ก.ย.) นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้หลายคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกฎหมายในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องเกษียณอายุราชการเท่ากับเลิกจ้าง ซึ่งมีการกำหนดว่า กรณีสถานประกอบการและลูกจ้างไม่ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเกษียณอายุการทำงาน หรือตกลงไว้เกินอายุ 60 ปี ให้สิทธิลูกจ้างที่อายุ 60 ปีขึ้นไป แสดงเจตนาขอเกษียณอายุได้ และสิทธิค่าชดเชยจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น 30 วัน ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป สถานประกอบการใดที่ไม่ได้กำหนดเรื่องเกษียณอายุเอาไว้ ลูกจ้างมีสิทธิแสดงความต้องการในการเกษียณอายุได้ แต่ต้องย้ำว่า หากขอเกษียณไปแล้ว และต้องการกลับมาทำงานใหม่กับนายจ้างคนเดิม หรือนายจ้างคนใหม่จะไม่สามารถใช้สิทธิซ้ำอีก เพราะสิทธินี้ใช้ได้เพียงครั้งเดียว

“ส่วนสถานประกอบการที่กำหนดอายุเกษียณไว้ที่อายุ 55 ปี หรืออายุเท่าไรก็ตามที่ไม่เกิน 60 ปี ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลง จะใช้กฎหมายนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ อยากให้เข้าใจว่ากฎหมายนี้ไม่ได้บังคับ หากไม่ประสงค์จะเกษียณเมื่อครบ 60 ปีแล้ว และทางบริษัทก็จ้างต่อ ก็ยังคงทำงานได้ต่อไป” นายอภิญญา กล่าวและว่า ส่วนการจ่ายชดเชยการเกษียณเท่ากับเลิกจ้าง ยังเป็นตามอัตราเดิมคือมี 5 ขั้น ส่วนขั้นที่ 6 ที่ระบุว่า หากทำงานเกิน 20 ปีจะได้รับเงิน 400 วันนั้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะต้องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แต่คาดว่าน่าจะใช้ได้ภายในปีนี้

สำหรับอัตราจ่ายชดเชย 5 ขั้น ประกอบด้วย 1. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้รับค่าชดเชย 30 วัน 2. ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี ได้รับค่าชดเชย 180 วัน 4. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 8 ปี ได้รับค่าชดเชย 240 วัน และ 5. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน

ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นการผลักดันโดยองค์การลูกจ้าง โดยเฉพาะเรื่องการเกษียณอายุเท่ากับเลิกจ้าง เนื่องจากตัวเลขที่ผ่านมาพบว่า มีสถานประกอบการประมาณ 90,000 แห่งที่ไม่มีการกำหนดอายุเกษียณไว้ ซึ่งเป็นปัญหามาก ดังนั้น กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ในการให้สิทธิลูกจ้างในการทำงาน แต่ไม่ใช่ว่าอายุ 60 ปีจะต้องเลิกจ้างหรือเกษียณเลย หากลูกจ้างไม่บอกเกษียณอายุก็ต้องจ้างงานต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น