xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ขยาย 1 ปี “มงกุฎวัฒนะ-รพ.เอกชน 7 แห่ง” ปรับตัวเกณฑ์ใหม่รักษาหัวใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. ขยายเวลา 1 ปี ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ และ รพ.เอกชนอีก 7 แห่งที่เคยเป็นหน่วยบริการส่งต่อรักษาหัวใจ ปรับตัวเข้ากับเกณฑ์ใหม่ ย้ำต้องแยกเกณฑ์หน่วยประจำและส่งต่อจากกัน แม้จะรักษาโรคเฉพาะทางได้ เพื่อความชัดเจน

จากกรณีโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านการตรวจประเมินเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อรักษาโรคหัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในเงื่อนไขต้องมีศัลยแพทย์หัวใจประจำเวลาราชการ เพราะมองต่างมุมว่าเป็น รพ.เอกชน มีแพทย์หมุนเวียน 24 ชั่วโมง และเป็นหน่วยบริการประจำระบบบัตรทองอยู่แล้ว เหตุใดต้องเอาเกณฑ์ของหน่วยบริการนอกระบบมาใช้กับหน่วยบริการประจำ

วันนี้ (21 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประชุมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีวาระถึงกรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ โดยให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ว่า เกณฑ์ใหม่ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งข้อกำหนดหนึ่งคือ ให้มีศัลยแพทย์ด้านหัวใจประจำ รพ. 1 คน เพื่อความปลอดของผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่มารับบริการช่วงเวลาราชการอยู่แล้ว ส่วนการที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่าน และเสนอให้เปลี่ยนเกณฑ์เพื่อให้ รพ.สามารถใช้แพทย์พาร์ตไทม์ได้นั้น ที่ประชุมเห็นว่า ความปลอดภัยของประชาชนสำคัญที่สุด จะไปเปลี่ยนเกณฑ์คงไม่ได้ แต่เนื่องจากเพิ่งมีการประกาศใช้ เลยให้โอกาส รพ. ที่เคยทำอยู่ก่อน โดยยืดเวลาให้สามารถใช้แพทย์พาร์ทไทม์ได้ 1 ปี หลังจากนั้นต้องให้เป็นไปตามเกณฑ์ คือ มีแพทย์ประจำ และได้มอบหมายให้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. หารือกับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รพ.เอกชนที่เคยผ่าตัดหัวใจในระบบบัตรทองมาก่อน เมื่อมีประกาศเกณฑ์ใหม่ ส่งผลให้มี รพ.เอกชนอีก 7 แห่ง ไม่ได้ยื่นเข้ามาเป็นหน่วยบริการรับส่งต่ออีก เพราะพิจารณาแล้วว่าอาจไม่เข้าเกณฑ์ด้วยเหตุผลบางประการ และรวมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะเงื่อนไขต้องมีศัลยแพทย์หัวใจประจำ รวมเป็น 8 แห่ง ทั้งนี้ ประกาศที่ออกมามีความกระชั้นชิด ทำให้ รพ. ปรับตัวไม่ทัน จึงจะมีการยืดเวลาให้ รพ. ทั้งหมดนี้เตรียมตัวอีก 1 ปี และคนไข้จะได้ไม่เดือดร้อน และจะมีการหารือกับ รพ.เอกชน ทั้งหมดว่า เมื่อมีการขยายเวลาเพื่อให้ปรับตัวน่าจะมีความพร้อมมากขึ้นหรือไม่ ส่วน รพ.อื่นที่เข้ามาใหม่ก็จะให้ใช้ตามเกณฑ์นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า รพ. อีก 7 แห่งเป็นหน่วยบริการประจำและส่งต่อเหมือน รพ.มงกุฎวัฒนะ หรือไม่ นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า เดิมก่อนมีประกาศฉบับใหม่นี้ มี รพ. เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อทั้งหมด 57 แห่ง แต่เมื่อมีประกาศฉบับใหม่มี รพ. 50 แห่ง ส่งมาเพื่อขอประเมินขึ้นเป็นหน่วยบริการส่งต่อของบัตรทอง โดย 7 แห่งที่ไม่ได้ส่งมา ส่วนใหญ่เป็นหน่วยบริการส่งต่อทั้งหมด ยกเว้น 1 แห่งที่เป็นทั้งหน่วยบริการส่งต่อและหน่วยบริการประจำเหมือน รพ.มงกุฎวัฒนะ แต่เมื่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านเกณฑ์ จึงมีหน่วยบริการส่งต่อที่ผ่านประเมิน 49 แห่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดต้องแยกเกณฑ์หน่วยบริการประจำและส่งต่อ ทั้งที่รักษาได้เหมือนกัน นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า หน่วยบริการประจำจะดูแลทุกเรื่อง ทั้งส่งเสริมป้องกัน คนไข้นอก คนไข้ในที่รักษาทั่วไป หากรักษาไม่ได้ก็ต้องส่งต่อ ก็จะมีส่งต่อทั่วไป หรือส่งต่อเฉพาะโรค เช่น โรคหัวใจ เพราะเป็นเรื่องจำเพาะ เด็กน้ำหนักน้อย ยกตัวอย่าง รพ. หนึ่งผ่าตัดข้อเข่าไม่ได้ ก็ต้องส่งต่อทั่วไปที่มีศัลยแพทย์ ซึ่งแม้หน่วยบริการประจำจะมีศักยภาพในการผ่าตัดรักษาเฉพาะโรคได้ รู้ว่าทำได้ แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น และมีความมั่นใจกับประชาชนด้วย ไม่ใช่ว่าหน่วยบริการประจำจะทำได้ทุกเรื่อง จึงจำเป็นต้องแยกเช่นนี้

“ย้ำว่า ผู้ป่วยบัตรทองยังรักษาได้เหมือนเดิมทั้งหมด อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจก็ยังรักษาได้ตามเดิม ส่วนเรื่องของระบบการบริหารจัดการ สปสช.จะเข้าเจรจาหารือกับ รพ.เอกชน และไม่ต้องห่วง ทุกอย่างจะไม่กระทบกับผู้ป่วยแน่นอน และขอย้ำอีกว่าส่วนผู้ป่วยบัตรทองใน รพ.มงกุฏวัฒนะท่านอื่นๆ ก็รักษาได้ตามปกติ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น