xs
xsm
sm
md
lg

หนุนตั้ง “พิพิธภัณฑ์” ทุกจังหวัด หลังยอดคนเข้าชมเพิ่ม พร้อมดันเป็น “สมิธโซเนียน” แห่งเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วีระ” สั่งกรมศิลป์สำรวจจังหวัดที่ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ หวังจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น หลังพบสถิติคนเข้าชมเพิ่มปีละ 10% หรือประมาณ 1 ล้านคน พร้อมวางแผนยกระดับพิพิธภัณฑ์ไทยให้เป็น สมิธโซเนียนแห่งเอเชีย ใน 20 ปี

วันนี้ (20 ก.ย.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม บรรยายพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เนื่องในกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี 2560 กล่าวว่า ตามที่ วธ. ได้พัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้มีชีวิต ตามพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้นำร่องปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ประเมินพบว่า มีตัวเลขผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพิ่มขึ้นต่อปีร้อยละ 10 หรือประมาณ 1 ล้านคน ดังนั้น ตนได้มอบหมายให้กรมศิลปากรสำรวจจังหวัดต่างๆ ที่ยังไม่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้มองถึงการดำเนินการพิพิธภัณฑ์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ พิพิธภัณฑ์สึนามิ จ.พังงา ที่นอกจากให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์แล้ว ยังให้ความรู้เรื่องธรรมชาติ วิถีชีวิตของคน ร่วมด้วย เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้ว จะมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาดูแล ขณะที่กรมศิลปากร จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ด้านวิชาการ

นายวีระ กล่าวต่อว่า ในแผนการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในเฟสต่อไป ตนได้ผลักดันการพัฒนาพื้นที่คลองห้า จ.ปทุมธานี ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมระดับโลก และยกระดับงานพิพิธภัณฑ์ไทยให้เป็น สมิธโซเนียนแห่งเอเชีย ในระยะ 20 ปี เช่น การสร้างคลังโบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์และอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมให้เป็นระบบดิจิทัล และการพัฒนาสื่อ คลังสื่อ และแหล่งเรียนรู้ดิจิทัลด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้ โดยได้มีการวางแผน ที่จะนำ ส่วนหนึ่งของ อาคารประกอบพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ไปจัดตั้งไว้ภายในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ ตนได้ลงนามในการเจรจาระดับนโยบายกับต่างประเทศ ในการขอยืมโบราณวัตถุ มาจัดแสดงในประเทศไทย ซึ่งได้มอบหมายให้ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร รับหน้าที่ประสานงาน โดยนำร่องจาก ประเทศอินเดีย และ ญี่ปุ่น ภายในปี 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น