xs
xsm
sm
md
lg

รพ.มงกุฎวัฒนะ ผ่าตัดหัวใจ “สิทธิบัตรทอง” ฟรีไม่ได้ เหตุ สปสช.ไม่จ่ายเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สิทธิบัตรทอง “รพ.มงกุฎวัฒนะ” กว่า 2 แสนคน อดผ่าตัด -
ใส่สายสวนหัวใจฟรี ตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป เหตุ สปสช. ไม่จ่ายเงิน หลัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่เห็นด้วยเกณฑ์ตรวจประเมินเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อรักษาโรคหัวใจ “หมอเหรียญทอง” ชี้ ควรใช้หลักเกณฑ์กับ รพ. นอกระบบบัตรทอง ไม่ใช่ รพ. ที่อยู่ในระบบ


วันนี้ (19 ก.ย.) พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ ให้บริการผ่าตัดหัวใจและใส่สายสวนหัวใจแก่คนไข้มานานกว่า 20 ปี โดยให้บริการแก่ผู้ป่วยบัตรทองด้านนี้ตั้งแต่ปี 2553 โดยเป็นหน่วยบริการประจำและรับส่งต่อ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองในความดูแลของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ประมาณ 1.2 แสนคน และปีนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขอให้รับเป็นหน่วยส่งต่อผู้ป่วยมาดูแลจาก รพ.เอกชน ที่ถอนตัวอีกกว่า 6 หมื่นคน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองรวมกว่า 2 แสนคน อย่างไรก็ตาม สปสช. ยื่นข้อเสนอให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ต้องจัดหาศัลยแพทย์หัวใจมาประจำที่ รพ. วันจันทร์ - ศุกร์ ในเวลาราชการ อย่างน้อย 1 คน จึงจะผ่านเกณฑ์การตรวจประเมิน

“ข้อเสนอดังกล่าวเรารับไม่ได้ เพราะเราเป็นหน่วยบริการหลักให้บริการประชาชนเทียบเท่า รพ. รัฐ อยู่แล้ว และหากมีการส่งต่อก็ยินดีจะรักษาให้ โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานรับส่งต่อ และมีแพทย์หมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องแขวนชื่อแพทย์เพียงคนเดียว เพื่อให้มาตอบปัญหาหรือรับผิดชอบคนเดียว แพทย์ทุกคนมีใบประกอบวิชาชีพ และมีความสามารถ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวมองว่า ควรนำไปใช้กับหน่วยบริการนอกระบบบัตรทองที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคหัวใจเท่านั้น ไม่ใช่นำมาใช้กับหน่วยบริการประจำที่ต้องรักษาผู้ป่วยบัตรทองทุกโรคอยู่แล้ว” พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า การไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน เท่ากับว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป คนไข้บัตรทองที่มีสิทธิอยู่ที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ หากป่วยเป็นโรคหัวใจ จะไม่สามารถผ่าตัดหรือใส่สายสวนหัวใจฟรีได้ ต้องส่งต่อไปรับบริการที่ รพ. อื่น แต่หากต้องการรักษาที่นี่ก็ต้องจ่ายเงินเอง เพราะ สปสช. จะไม่จ่ายเงินให้กับ รพ.มงกุฎวัฒนะ รวมถึงกรณีรพ. อื่นต้องการส่งต่อคนไข้หัวใจมารักษาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็ไม่สามารถส่งต่อมาได้เช่นเดิม เพราะ สปสช. จะไม่จ่ายให้เช่นกัน โดยในช่วง ต.ค.- ธ.ค. 2560 มีคนไข้นัดคิวผ่าตัดราว 40 - 50 ราย ก็ต้องหา รพ. ใหม่ และรอคิวใหม่ นอกจากนี้ แม้ผู้ป่วยจะเข้ามาด้วยอาการฉุกเฉินก็ไม่เข้าเกณฑ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน ทั้งนี้ ตนจะได้ทำหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. และนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ สปสช. หยุดหลักเกณฑ์ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น