ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หากคุณกำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม "ตลาดหัวตะเข้" สามารถตอบโจทย์ของคุณได้ เป็นตลาดโบราณย่านลาดกระบัง เสน่ห์ตลาดคลาสสิกเรียบง่ายตามวิถีชีวิตชุมชนไทย จีน มอญ มีร้านขายอาหารหลากหลายเมนู ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำไก่ย่าง ขนมโบราณ อาทิ ขนมใบไม้ ขนมสายบัว ทองม้วนสด ขนมฝักบัว แม่ค้าจะทำกันสดๆ ใหม่ๆ ให้ช้อป ชิม อีกทั้งยังเป็นตลาดจัดแสดงศิลปะ นับเป็นสีสัน จุดเด่นให้กับชุมชน สิ่งเหล่านี้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือน
จากหลากหลายจุดเด่น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือก "ตลาดเก่าหัวตะเข้" เป็นถนนสายวัฒนธรรมฝั่งตะวันออก โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีความสะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ขณะที่วัดสุทธาโภชน์ ยังได้สืบสืบสานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ซึ่งปีนี้กำหนดจัดวันที่ 8 ตุลาคม 2560
ย่านหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม-ตลาดเก่าหัวตะเข้ ถือเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ตั้งอยู่บนที่ดินของโรงเรียนพรตพิทยพยัต ซึ่งคุณหญิงเลี่ยม บุนนาค ภรรยาหลวงพรต-พิทยพยัต ได้บริจาคให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดตั้งเป็นสถานศึกษาให้แก่เด็กชาวลาดกระบัง ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนแห่งการศึกษาทุกระดับชั้น นอกจากนั้นชุมชนแห่งนี้ยังเคยเป็นชุมทางการค้าสำคัญในอดีต และเมื่อวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ตลาดเก่าหัวตะเข้จึงซบเซาลง จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนจึงได้รวมตัวกันในนามกลุ่มคนรักหัวตะเข้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูตลาดเก่าหัวตะเข้แห่งนี้ขึ้นให้กลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเมื่อครั้งอดีต เพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”ตามนโยบายของรัฐ
เสน่ห์ของตลาดแห่งนี้ยังแหล่งเรียนรู้ศิลปะหลากหลายแขนง อาทิ ผ้ามัดย้อม ลงรักปิดทอง งานปั้น วาดภาพ สมุดทำมือ เป็นต้น โดย อรนุช อารีพงศา อาจารย์จากวิทยาลัยช่างศิลป ในนามบ้านสามครู เล่าว่า เปิดสอนศิลปะให้แก่นักท่องเที่ยว หรือผู้สนใจมาหลายปีแล้ว ซึ่งมีเด็ก ประชาชนให้ความสนใจเรียน โดยเฉพาะผ้ามัดย้อมจะให้นำฝีมือของตัวเองกลับบ้าน เพื่อให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ สำหรับการเขียนลายรดน้ำ เราสอนให้เขียนลวดลายโบราณ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เรียนได้นอกเหนือจากขั้นตอนการทำแล้วยังได้ฝึกสมาธิด้วย
สืบสานตักบาตรพระร้อยทางเรือ
พระครูวิมลสุทธาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดสุทธาโภชน์ กล่าวว่า ที่บริเวณวัดได้จัดพิพิธภัณฑ์เรือ ซึ่งมีมากกว่า 100 ลำ เรือเหล่านี้ส่วนใหญ่ชาวบ้านนำมามอบให้ทางวัด ประกอบกับทางวัดหวั่นว่าประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือจะสูญหาย จึงได้สืบสานประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบันและในย่านนี้เหลือเพียงวัดเดียวเท่านั้น ซึ่งปีนี้กำหนดตักบาตรพระร้อยทางเรือในวันที่ 8 ตุลาคม โดยทางวัดจะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้เคียง มาลงเรือรับบิณฑบาตด้วยขบวนเรือมาดที่ขุดด้วยไม้ตะเคียนทั้งต้น และเรืออื่นๆ นับ 100 ลำ นำขบวนด้วยเรือมาดเจ้าจอมมารดากลิ่น และในวันดังกล่าวจะเห็นชาวไทยเชื้อสายมอญ ทั้งชายและหญิงจะแต่งชุดมอญ ซึ่งทุกปีในวันตักบาตรจะมีประชาชนนำอาหารมารอตักบาตรทั้งสองฝั่งคลองโดยเกือบสองกิโลเมตร จึงอยากเชิญชวนพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญและร่วมสืบสานประเพณีนี้