xs
xsm
sm
md
lg

ขยายสิทธิลาคลอด 180 วันเรื่องยาก แนะเพิ่มมุมนมแม่-ศูนย์เตาะแตะในที่ทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สิทธิลาคลอด 180 วันเรื่องยาก เล็งศึกษาข้าราชการก่อนมีผลกับงาน ค่าใช้จ่ายรัฐหรือไม่ ด้านเอกชนพบพนักงานใช้สิทธิไม่ถึง 90 วันตามกฎหมายกำหนด เหตุรายได้ไม่พอต้องรีบกลับมาทำงานก่อน แนะเพิ่มมุมนมแม่ - ศูนย์เตาะแตะในที่ทำงานเป็นสวัสดิการแทน

จากกรณีรัฐบาลเล็งขยายสิทธิวันลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเดียวนาน 6 เดือน โดยอาจให้ออกเป็นกฎหมายลูกนั้น

วันนี้ (15 ก.ย.) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เรื่องของกฎหมายสิทธิวันลาคลอดไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรมอนามัย แต่ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกระทรวงแรงงาน เพื่อหารูปแบบที่จะช่วยส่งเสริมให้แม่สามารถให้นมลูกได้ เช่น จัดมุมนมแม่ ส่วนเรื่องการให้หยุดงานถึง 180 วันนั้น ทราบว่าอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะกระทบกับหลายๆ อย่าง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาอยู่เหมือนกันว่าในช่วง 90 วันที่กฎหมายประกันสังคมให้หยุดเลี้ยงลูกได้นั้นพบว่า แม่จำนวนมากหยุดไม่ถึง เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องรายได้ แม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ยิ่งลำบาก เพราะเงินส่วนมากมาจากการทำงานล่วงเวลา หรืองานเสริมอื่นๆ ดังนั้น ยังไม่ครบกำหนดก็กลับมาทำงานแล้ว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า การทำเรื่องนี้ในภาพรวมอาจจะยังมีความยากลำบาก ดังนั้น จึงมีการหารือกันว่า จะลองเริ่มในกลุ่มข้าราชการก่อนหรือไม่ ซึ่งได้ขอข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เกี่ยวกับการลาหยุดเพื่อเลี้ยงลูกของข้าราชการเป็นอย่างไร ถ้าจะหยุดงาน 180 วัน แล้วมีผลกระทบกับงาน และภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐอย่างไรบ้าง เป็นต้น ส่วนภาคเอกชนนั้นค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่แล้วนั้น นอกจากการจัดมุมนมแม่แล้วก็เคยมีการพิจารณาถึงการจัดให้มีศูนย์เตาะแตะในสถานประกอบการ ดูแลเด็กอายุ 3 ขวบลงมา โดยจัดให้เป็น 1 ในสวัสดิการสำหรับพนักงานก็ได้ เหมือนกับที่กรมอนามัยทำเป็นต้นแบบอยู่ในตอนนี้ ซึ่งจะมีการถอดบทเรียนในระยะอันใกล้ หากทำได้นอกจากจะช่วยให้แม่วัยทำงานสามารถมาให้นมลูกได้แล้ว ยังเป็นการช่วยให้ลูกได้อยู่กับครอบครัว เพราะปัญหาที่ครอบครัวหนึ่งๆ ส่งลูกไปไว้กับผู้สูงอายุที่บ้าน เพราะมีปัญหาไม่มีเวลาดูแลลูก

“สิ่งที่หารือกันไม่ได้จะออกเป็นกฎหมาย หรือออกเป็นกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกฯ เพราะเกรงว่าหากออกเป็นกฎหมายมาบังคับจริงอาจจะมีผลกระทบกับการรับคนเข้าทำงานก็ได้” นพ.ธงชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น