xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลปฏิรูปโครงสร้าง “ภาษี” ทั้งระบบ สร้างความเป็นธรรม-ลดเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งใจเข้ามาสังคายนาระบบภาษีของประเทศครั้งใหญ่ตามที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ในนโยบายเร่งด่วนข้อ 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรายได้ โดยเน้นการขยายฐานผู้เสียภาษี รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการปรับปรุงพระราชบัญญัติจัดเก็บภาษีหลักทั้งระบบ ทั้ง ภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร โดยให้มีเนื้อหาทันสมัย จัดเก็บรายได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียภาษีทั้งระบบ

อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งจะปรับพิกัดภาษีศุลกากรใหม่ตาม องค์การศุลกากรโลก (WCO) แยกสินค้าและพิกัดภาษีให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยให้การจัดเก็บภาษีศุลกากรในปี 2560 มีประสิทธิภาพและอุดรูรั่วไหล ทำรายได้ตามเป้าหมาย 1.25 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันได้ปรับปรุง พ.ร.บ. สรรพสามิต โดยปฏิรูปการจัดเก็บให้มีความทันสมัย เช่น ให้คิดคำนวณฐานภาษีอยู่บนราคาขายปลีกแนะนำ จากเดิมที่คิดจากราคาสำแดงนำเข้า หรือราคาหน้าโรงงาน ซึ่งทำให้เกิดการหลบเลี่ยงได้ง่าย และจะประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้

รัฐบาลยังมีการผลักดัน การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราใหม่ หลังจากปรับครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2535 โดยจะให้เริ่มใช้ในปีภาษี 2560 เพื่อให้การเก็บภาษีสอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพปัจจุบัน เช่น เพิ่มค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการหักภาษี จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมได้ 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เพิ่มเป็น 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท รวมถึงให้ปรับค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้จากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท

ขณะเดียวกัน การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับ มนุษย์เงินเดือน ให้เสียภาษีน้อยลง ทั้งนี้ กรมสรรพากรประเมินว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษีเงินได้ใหม่ของรัฐบาลกว่า 8 ล้านคน

รัฐบาลยังได้ใช้ระบบภาษีเข้ามาช่วย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ อีกด้วย เพราะที่ผ่านมาภาษีเงินได้นิติบุคคลไทยยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ทำให้ต่างชาติไม่ค่อยสนใจมาลงทุน จึงได้มีการแก้ไข ประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับมาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จากเดิม 30% เหลือ 20% ของกำไรสุทธิ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 รวมถึงออกมาตรการภาษีสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน ด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นภาษีสำหรับเงินปันผลที่ได้รับเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ส่งเสริมให้เกิดกิจการร่วมทุนในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด เพื่อช่วยให้อัตราภาษีของไทยต่ำลง สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างชาติเข้ามา

ขณะเดียวกัน ด้านของการขยายฐานการจัดเก็บภาษี รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจที่ยังไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยประกาศใช้ พระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฏากร พ.ศ.2558 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 เพื่อยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง ให้แก่บริษัทนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และจดแจ้งการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว)

ตลอดจนมีการออกกฎหมายด้านภาษีใหม่อีกหลายฉบับ เพื่อจัดเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจที่ไม่เคยเสียภาษี อาทิ ร่างกฎหมายเก็บภาษีพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ภาษี อี-คอมเมิร์ช) เพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าออนไลน์ในประเทศไทย

รวมถึงการใช้ระบบภาษีเพื่อ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ระหว่าง คนรวยกับคนจน โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ที่ภาครัฐสามารถเก็บได้ไม่ถึง 1% ของรายได้ภาษีทั้งประเทศ 2 ล้านล้านบาท ด้วยการออกประกาศ พ.ร.บ. ภาษีผู้รับมรดก พ.ศ. 2558 เริ่มจัดเก็บเป็นครั้งแรกของไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้รับมรดกที่รับส่วนเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนับจากวันที่รับมรดก 150 วัน หากผู้รับเป็นผู้สืบสันดานเสีย 5% และผู้รับเป็นบุคคลภายนอกเสีย 10%

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการภาษี สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การปฏิรูปกฎหมายด้านภาษีของรัฐบาลชุดนี้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลแรกๆ ที่เข้ามาทำทั้งระบบ และมีส่วนดี คือ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของจากภาคเอกชนด้วย ทำให้กฎหมายมีความทันสมัย สามารถเข้ามาใช้งานได้จริง โดยเน้นขยายฐานผู้เสียภาษีให้มากขึ้น คนที่ไม่เคยเสียก็เข้ามาในระบบ ส่วนคนที่เสียอยู่แล้วก็ไม่ต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น

“การปฏิรูปโครงสร้างภาษียังช่วยเรื่องลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เช่น เมื่อก่อนระบบภาษีไม่ค่อยสร้างความเป็นธรรม เอื้อให้มีธุรกิจหลบเลี่ยงภาษีกันเยอะ แต่เมื่อมีการปรับลดภาษี นิรโทษกรรมไม่ให้มีผลย้อนหลังก็ช่วยจูงใจให้ภาคธุรกิจอยากเข้ามาอยู่ในระบบ หรือแม้กระทั่งการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ที่ปรับรูปแบบการคิดภาษีจากเดิมคิด ราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำก็ช่วยตอบโจทก์มาก ไม่ให้มีใครต้องมาเลี่ยงภาษีสำแดงถูกกันอีก” ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ ระบุ

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีของรัฐบาลชุดนี้ นอกจากการมีการปรับปรุงเนื้อหา พิกัดการจัดเก็บภาษีต่างๆ ให้มีความทันสมัย เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว อีกจุดหนึ่งที่ดีมาก คือ มีการเข้ามาปรับภาพลักษณ์ของภาษีใหม่ โดยพยายามส่งเสริมให้สังคมทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชนมองภาษีไม่ใช่เป็นปีศาจร้าย แต่เป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันในการนำรายได้ไปพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับมีการใช้เทคนิคทางการตลาด รวมถึงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย เช่น โครงการคลินิกภาษี มาอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงระบบภาษีได้ง่ายขึ้น

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐเข้ามาปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บภาษีใหม่ และได้ทำให้เกิดประโยชน์ถึง 3 - 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้คนรวยที่มีทรัพย์สินที่ดินมากๆ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีนำรายได้เข้ารัฐบาลเพิ่ม แต่ขณะเดียวกันหากไม่ต้องการเสียภาษีมาก ก็ต้องนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น นำไปให้คนจนเช่าเพื่อทำการเกษตร หรือเจ้าของที่ดินอาจจะมีการลงทุนทำธุรกิจในที่ดินว่างเปล่ามากขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงาน ทำให้ระบบการเงิน สินเชื่อ เกิดการหมุนเวียนตามมา ขณะที่การปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลที่ลดภาษีจาก 30% เหลือ 20% เป็นส่วนสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น

เป็นเสียงสะท้อนที่ชื่นชมความกล้าหาญของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ในการเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ รัฐบาลคาดหวังว่าจะช่วยทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะการนำบุคคลหรือธุรกิจที่ยังไม่เคยเสียภาษีให้เข้ามาอยู่ในระบบเสียภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อนำรายได้มาพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น