โครงการ “ประชารัฐ” ของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้นำมาใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ โดยเน้นการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่าง “ภาครัฐ - เอกชน - ประชาชน” ให้เข้ามาช่วยเดินหน้าพัฒนาปฏิรูปประเทศ รวมถึงแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ตลอดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา นโยบายประชารัฐได้รับการยอมรับอย่างสูง และได้รับความร่วมมืออย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) บริษัทมหาชนขนาดใหญ่ ตลอดจนภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ร่วมตัวกันในคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน 12 ชุด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันทั้ง 12 ด้าน
ที่สำคัญยังได้ร่วมมือกันก่อตั้ง “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด” มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ รวมถึงภาครัฐ ภาคประชาชน เป็นรูปแบบ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีหน้าที่ช่วยเหลือต่อยอดชุมชนที่มีความพร้อม ให้สามารถเพิ่มรายได้จากธุรกิจการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานล่างของประเทศให้แข็งแกร่ง
ปัจจุบันสามารถจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีได้ครบทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวมถึงส่วนกลางอีกแห่งที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีภาคธุรกิจ และวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมรับการช่วยเหลือจำนวนมาก สามารถช่วยเหลือต่อยอดทางรายได้ และพัฒนาการบริหารจัดการให้โครงการท้องถิ่นชุมชนประสบความสำเร็จหลายแห่ง อาทิ โครงการ “ลำไยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่” จ.เชียงใหม่ โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” โครงการลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้ เป็นต้น
โครงการประชารัฐ ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงผู้สูงวัยให้เพิ่มโอกาสทางสังคมมากขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีมีมติผ่านโครงการบ้านประชารัฐ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดเป็น “โครงการสินเชื่อบ้านประชารัฐ” วงเงิน 40,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ได้ให้ ธอส. ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อพรีไฟแนนซ์ให้ผู้ประกอบการนำมาใช้พัฒนาโครงการดอกเบี้ย 4% อีกแห่งละ 10,000 ล้านบาท รวม 30,000 ล้านบาท
โครงการนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก เพราะนอกจากจะกู้เพื่อไปซื้อบ้านใหม่ได้แล้ว ยังสามารถกู้เพื่อซ่อมแซม และต่อเติมที่อยู่อาศัยได้ด้วย และมียอดผ่อนชำระต่อเดือนถูกกว่าค่าเช่าบ้านเสียอีกเริ่มต้น 2-3 พันบาทเท่านั้น ซึ่งในปี 2559 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สามารถปล่อยสินเชื่อบ้านประชารัฐปีนี้ได้ 7,000 ล้านบาท และในปี 2560 ตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารออมสินก็ปล่อยกู้ไปได้หลายพันล้านบาทเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมี “โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน” จากธนาคารออมสิน ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย เช่น พ่อค้า แม่ค้า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ให้บริการรถรับจ้างสาธารณะ กลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือผู้รับจ้างให้บริการทั่วไป ให้สามารถกู้ไปใช้เป็นเงินทุนหรือทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ แก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพ และชำระหนี้สินอื่นๆ วงเงินคนละ 50,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปีที่ 1 ปลอดดอกเบี้ย หลังจากนั้นคิดเพียง 1%
ส่วนผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปี ได้รับความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย ทำ “โครงการประชารัฐ สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงวัย” เพื่อกู้เพื่อซื้อบ้าน ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย หรือต่อเติมซ่อมแซม และยังรวมถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่ร่วมกับบิดามารดา โดยบิดามารดาต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือน และมีหลักฐานการหักลดหย่อนภาษีค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาจากกรมสรรพากรไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 30 ปี คิดดอกเบี้ย 3 ปีแรก 4.25 - 4.50% โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 คาดใน 6 เดือนแรกจะปล่อยกู้ได้ 10,000 ล้านบาท โดยประชาชนที่สนใจติดต่อได้ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทยทุกแห่ง
ด้านการลดค่าครองชีพแก่ประชาชน กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ 5 ราย เปิดตัว “โครงการธงฟ้าประชารัฐ” นำสินค้าอุปโภคและบริโภคจำเป็นในชีวิตประจำวันกระจายไปจำหน่ายทั่วประเทศ นำร่องร้านโชห่วย ประมาณ 5,000 แห่ง และร้านค้าชุมชน อีก 500 แห่ง และภายในสิ้นปีนี้ ร้านค้าชุมชนจะเข้าร่วมโครงการเป็น 2,000 - 3,000 แห่ง สามารถขายสินค้าราคาถูกถูกกว่าท้องตลาดลดค่าครองชีพประชาชนได้ร้อยละ 15
กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ยังได้จัดทำอีกหนึ่งโครงการสำคัญ “บ้านธนารักษ์ประชารัฐ” โดยนำพื้นที่ราชพัสดุมาร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยราคาถูกราคาหน่วยละไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ได้มีสิทธิเช่าระยะสั้นและระยะยาว อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 2 แปลง และเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 2 แปลง
โครงการประชารัฐยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริม ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศอีกด้วย โดยเมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ” วงเงิน 20,000 ล้านบาทขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินกู้สูงสุดรายละ 10 ล้านบาท กู้ระยะยาวไม่เกิน 7 ปี และคิดดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา เป้าหมายช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 2,000 ราย ซึ่งล่าสุด มีเอสเอ็มอีสนใจเข้าแหล่งทุนกว่า 2,883 ราย วงเงินรวม 10,667 ล้าน ผ่านการอนุมัติแล้ว 833 ราย วงเงินรวมกว่า 1,562 ล้านบาท
ในส่วนของภาคธุรกิจที่มีขนาดเล็กลงไป โครงการประชารัฐไม่ได้ทอดทิ้งเช่นกัน โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัด “โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อ Micro SME” ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินรายละไม่เกิน 2 แสนบาท แบบไม่มีหลักประกันและปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 10 ปี ไม่ต้องชำระคืนเงินต้นใน 3 ปีแรก เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยจริง ๆ สามารถได้นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือปรับปรุงกิจการได้ โดยเริ่มแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 และคาดว่าจะช่วยเหลือเข้าถึงธุรกิจรายย่อยได้ไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า โครงการประชารัฐมีความจำเป็นอย่างมากเพราะการนำประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และหลุดพ้นจากกับดักการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ภาคสังคม เพราะหากรัฐฝ่ายเดียวจะมีข้อจำกัด เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถ้ารัฐมีงบประมาณไม่พอ ก็ต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยลงทุน หรือมหาวิทยาลัยก็เข้ามาช่วยศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปช่วยพัฒนา
อย่างกรณีการตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ที่มาจากภาคเอกชนก็ช่วยสนับสนุนการทำตลาด ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นและเอสเอ็มอีมีโอกาสพัฒนาก้าวหน้าได้ นอกจากนี้ยังเข้าช่วยแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น สินเชื่อพิเศษเพื่อช่วยลดรายจ่ายจากการกู้หนี้ยืมสิน การให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษเพื่อซื้อบ้าน หรือโครงการที่อยู่อาศัยประชารัฐราคาถูก ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะลดภาระให้คนจน และสิ่งสำคัญที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อเป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ เซงเก้ ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ระดับโลก Massachusetts Institute of Technology (MIT) กล่าวว่า โครงการสานพลังเพื่อบ้านเกิดของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) เป็นโครงการที่ดีที่ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เป็นการพัฒนาที่ให้เกิดความยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาองค์ความรู้ให้ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ โดยมีการเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 20 - 30 ปี เข้าร่วมโครงการ และหลังจากนี้ จะคัดผู้เข้าร่วมโครงการให้เหลือเพียงจังหวัดละ 1 คน เพื่อร่วมพัฒนาชุมชนในจังหวัดบ้านเกิด, เรียนรู้แนวทางการทำงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม แนวทางการบริหารและการสื่อสารแบบผู้นำ และสร้างเครือข่ายกับผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ โดยเน้นการศึกษาองค์ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาวิสาหกิจเพื่อชุมชน ให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ
นายไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ เจ้าของกิจการบริษัท กาแฟวาวี จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนประชารัฐตอบโจทย์ความต้องเอสเอ็มอีได้ 100% เพราะปัญหาของธุรกิจรายเล็กในไทย คือ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ การจะไปขอกู้จากสถาบันการเงินก็ต้องมีหลักทรัพย์ประกัน ไม่มีก็กู้ไม่ผ่าน และที่สำคัญกองทุนนี้ยังช่วยดอกเบี้ยต่ำ เพียง 1% ต่ำกว่าท้องตลาดที่คิด 6 - 7% ส่วนต่าง 5 - 6% มีความสำคัญมากสำหรับภาคธุรกิจ เพราะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปขยายธุรกิจอื่นๆ ได้เพิ่มอีก
“ธุรกิจกาแฟวาวี พอได้เงินกองทุนดอกเบี้ยต่ำไปซื้อเครื่องจักร ทำให้มีเงินส่วนเหลือไปใช้ลงทุนขยายสาขา เปิดช่องทางการขายใหม่ๆ ได้อีก ธุรกิจของผมก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่าเดิม วางแผนไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก็เหลือเพียง 1 ปี และผลที่คาดว่าจะได้รับจะมีรายได้เพิ่มจากเดิมประมาณ 34% ต่อปี มีการจ้างงานเพิ่ม กระจายรายได้สู่ไร่กาแฟ 15 ไร่ ที่มีเกษตรกรประมาณ 150 คน” นายไกรสิทธิ์ ระบุ
ความร่วมแรงใจของโครงการประชารัฐในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเดินหน้าไปอย่างมั่นคงแข็งแกร่งในหลากหลายมิติ ธุรกิจรายใหญ่มาช่วยรายเล็ก ไม่ได้มีใครได้ประโยชน์จนเกิดความเหลื่อมล้ำเพียงฝ่ายเดียว ที่สำคัญ ยังเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย ภาคธุรกิจรายย่อยที่ขาดโอกาส ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้ด้วย และนับเป็นผลงานลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรมอันเกิดจากการทำงานหนักของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)