กรุงเทพฯ - หลายหน่วยงานร่วมชี้แจงชาวบ้านกรณีมีกระแสข่าวจากกลุ่ม ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ ว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยค่ารื้อย้ายให้แก่ชาวบ้านที่ปลูกบ้านเรือนริมคลองลาดพร้าว - คลองบางซื่อ ในแนวก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรายละ 2 - 3 แสนบาท ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายจ่ายเงิน เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และถ้าจ่ายต้องใช้เงินถึง 2 พันล้านบาท ขณะที่กรมธนารักษ์ - กทม. เตรียมใช้กฎหมายจัดการบ้านที่ยังไม่ยอมรื้อออกจากแนวสร้างเขื่อนเพิ่มอีกจากที่แจ้งความฟ้องร้องไปแล้ว 36 ราย ส่วนเจ้าของหอพัก บ้านเช่าริมคลอง เตรียมใช้มาตราการทางภาษีกดดัน
ตามที่ ‘กลุ่มสิทธิชุมชนคนริมคลอง’ นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นักเคลื่อนไหวทางสังคม ในฐานะประธานกลุ่มสิทธิชุมชนฯ ได้ส่งทีมงานลงไปชี้แจงกับชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อในหลายพื้นที่ที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมของ กทม. โดยบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวเขื่อน เพราะทางกลุ่มสิทธิชุมชนฯ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยค่ารื้อย้ายรายละ 200,000 - 300,000 บาท รวมทั้งจะยื่นร้องต่อศาลเพื่อขอความเป็นธรรม กรณีที่กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลที่ดินริมคลองได้ยื่นฟ้องแกนนำชาวบ้านที่ยังไม่ยอมรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่ริมคลองนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ชุมชนลาดพร้าว 45 ริมคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับชาวชุมชนลาดพร้าว 45 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักการระบายน้ำ กทม. กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทน คสช. และผู้แทนเขตห้วยขวาง จัดประชุมชี้แจงนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ โดยเฉพาะกรณีการจ่ายเงินค่าชดเชยการรื้อย้ายบ้านออกจากพื้นที่ริมคลอง โดยมีตัวแทนชาวชุมชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 60 คน
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะจ่ายเงินค่าชดเชยในการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่ริมคลองแต่อย่างใด โดยในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ คลองลาดพร้าว) ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณา สรุปผลได้ว่า การจ่ายเงินไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากเป็นการรุกล้ำและบุกรุกพื้นที่ริมคลองสาธารณะ ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่อยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อนและบนตลิ่งซึ่งเป็นที่ดินที่ราชพัสดุดูแลอยู่
“กรณีมีกระแสข่าวเกิดขึ้นในชุมชนริมคลอง ว่า รัฐบาลจะจ่ายชดเชยให้ชาวบ้านรายละ 200,000 - 300,000 บาทนั้น จึงไม่เป็นความจริง ส่วนข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อประมาณ 2-3 เดือนก่อน นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะประธานกลุ่มสิทธิชุมชนคนริมคลอง ได้เข้าพบ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อยื่นหนังสือและข้อเรียกร้องของกลุ่มฯ แต่รัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณารายละเอียดของข้อเรียกร้อง หลังจากนั้นจึงมีกระแสข่าวเกิดขึ้นในกลุ่มชาวบ้านและเครือข่ายของนายศรีสุวรรณว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชย” นายสมชาติ ชี้แจง
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลในกรณีดังกล่าว พลเอกประวิตร ได้เห็นชอบตามที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เสนอ โดยระบุว่าหากมีการจ่ายเงินชดเชยการรื้อย้ายจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต อีกทั้งจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 2,000 ล้านบาท เนื่องจากมีครัวเรือนที่บุกรุกที่ดินราชพัสดุในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อตามแนวก่อสร้างเขื่อนประมาณ 7,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ การจ่ายเงินช่วยเหลือไม่ได้ยืนยันว่ากลุ่มต่อต้านและกลุ่มคัดค้านจะยอมรับ และไม่ได้ทำให้การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ และบ้านมั่นคงดำเนินการได้เร็วขึ้น เนื่องจากยังมีความแตกต่างของข้อเรียกร้องในแต่ละราย รวมทั้งการจ่ายเงินจะต้องมีกฎหมายพิเศษรองรับ ทำให้เกิดความยุ่งยากและต้องใช้เวลาในการปฏิบัติการ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติเดิม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้กับโครงการ มีการสื่อสารพื้นที่รูปธรรมที่ดำเนินการสำเร็จแล้วต่อชุมชนเป้าหมายและสาธารณะ มีการจัดชุดมวลชนสัมพันธ์ลงไปสร้างความรับรู้และความเข้าใจต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการในการดำเนินการกับกลุ่มที่ต่อต้านโครงการนั้น รายงานจากกรมธนารักษ์แจ้งว่า ได้ดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับแกนนำที่ยังไม่ยอมรื้อย้ายบ้านเรือนบนที่ดินริมตลิ่งที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่จำนวน 36 รายจาก 33 ชุมชน ส่วนกรณีผู้ที่ไม่ยอมรื้อย้ายที่อยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อน กรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบการสร้างเขื่อนจะใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการ นอกจากนี้กลุ่มคัดค้านที่เสียประโยชน์ เช่น เจ้าของหอพัก บ้านเช่าริมคลองที่มีอยู่ในหลายชุมชนนั้น เจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการทางภาษีมาดำเนินการต่อไป
ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวเพื่อป้องกันน้ำท่วม ความยาวทั้งหมด (ทั้ง 2 ฝั่ง) ประมาณ 31 กิโลเมตร ขณะนี้ บริษัท ริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งประมูลงานได้ได้ตอกเสาเข็มเพื่อเป็นฐานรากพนังเขื่อนไปแล้วประมาณ 10,000 ต้น จากเสาเข็มทั้งหมดประมาณ 60,000 ต้น ตามแผนงานบริษัทจะต้องตอกเสาเข็มให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อก่อสร้างพนังเขื่อน ทางเดินตามแนวพนังเขื่อน รั้วเหล็กกันตก ฯลฯ ให้แล้วเสร็จทั้งโครงการภายในช่วงกลางปี 2562
ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีเป้าหมายจะสนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อเพื่อให้ชาวชุมชนที่สามารถอาศัยอยู่ในที่ดินที่เหลือจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ สร้างบ้านและสร้างชุมชนใหม่ตามโครงการบ้านประชารัฐริมคลอง รวมทั้งจัดหาที่ดินสร้างชุมชนใหม่ หรือเข้าอยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ รวม 52 ชุมชน จำนวน 7,081 ครัวเรือน ภายในสิ้นปี 2561 โดยขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้ว 12 ชุมชน รวม 846 ครัวเรือน
ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนงบประมาณตามโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองหรือ ‘บ้านประชารัฐริมคลอง’ โดยแยกเป็น 1. งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ครัวเรือนละ 50,000 บาท 2. อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย (สมทบปลูกสร้างบ้าน, ซื้อที่ดิน) ครัวเรือนละ 25,000 บาท 3. งบช่วยเหลือแบ่งเบาผู้ได้รับผลกระทบ (ค่าที่พักชั่วคราว,ลดภาระหนี้สินในการกู้เงินสร้างบ้าน ฯลฯ) ครัวเรือนละ 72,000 บาท 4. งบบริหารจัดการ ชุมชนละ 50,000 - 500,000 บาท 5. งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 330,000 - 360,000 บาท ชำระคืนภายใน 20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเขื่อน และสร้างบ้านประชารัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามแผนงานเนื่องจากยังติดปัญหากลุ่มคัดค้านและผู้ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับกลุ่มสิทธิชุมชนคนริมคลอง ก่อตั้งในปี 2558 โดย นายสิระ เจนจาคะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรครักษ์สันติ (ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค) และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 1,000 คน เป็นชาวชุมชนริมคลองในเขตหลักสี่ ดอนเมือง บางเขน สายไหม ฯลฯ มีเป้าหมายคัดค้านการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมของ กทม. โดยเคลื่อนไหวร่วมกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา ฟ้องร้องหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เพื่อไม่ให้โครงนี้เดินหน้าไปได้ ต่อมาในช่วงกลางปี 2560 นายสิระ ลาออกจากการเป็นประธานกลุ่มฯ โดย นายศรีสุวรรณ ได้มารับช่วงต่อ และพยายามขยายสมาชิกออกไป โดยเชิญชวนชาวบ้านริมคลองเข้ามาร่วมกลุ่มเพื่อคัดค้านการรื้อย้ายและบอกว่าสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มจะได้เงินชดเชยกับรัฐบาล