xs
xsm
sm
md
lg

“พอลลีน งามพริ้ง” กะเทาะปัญหา “สาวประเภทสอง” ขาดความรู้ข้ามเพศปลอดภัย ร้องจัดบริการสุขภาพเฉพาะกลุ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พอลลีน งามพริ้ง” กะเทาะปัญหา “สาวประเภทสอง” ขาดความรู้ข้ามเพศที่ถูกต้องปลอดภัย สังคมกดดัน ทำบางส่วนฆ่าตัวตาย “โม มิสทิฟฟานี” ห่วงเทคฮอร์โมนเกินขนาด ศัลยกรรมไม่ได้มาตรฐานทำเพื่อนสาวเสียชีวิตหลายราย ร้องจัดบริการสุขภาพเฉพาะ เพิ่มการเข้าถึง ด้าน คร. ชวนสาวข้ามเพศร่วมออกแบบระบบบริการ เผย เล็งสร้างศูนย์เฉพาะทางสุขภาพทางเพศให้บริการทุกกลุ่ม

วันนี้ (8 ก.ย.) ที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ ราชดำริ กทม. ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ร่วมกับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จัดงานประชุมระดับชาติว่าด้วยรูปแบบบริการสุขภาพและเอชไอวีสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ โดย โม - จิรัชยา ศิริมงคลนาวิน มิสทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส 2016 และ มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน 2016 กล่าวว่า สังคมไทยและสังคมโลกไม่ได้มีแค่เพศหญิงและเพศชาย แต่เราอยู่บนความแตกต่างหลากหลายของมนุษยชาติ คนข้ามเพศก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่พึงได้รับสิทธิและสวัสดิการในการดูแลเรื่องสุขภาพอย่างเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ทั้งนี้ ผู้หญิงข้ามเพศถูกทำให้เป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องเผชิญกับเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุหนึ่งคือ การขาดแคลนองค์ความรู้ และงานวิจัยที่มีความเข้าใจเรื่องเพศสภาพของคนข้ามเพศ ทำให้หน่วยงานด้านสุขภาพมีข้อจำกัดในการจัดบริการด้านสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริงของคนข้ามเพศ เช่น การให้คำปรึกษา การตรวจเลือดโดยสมัครใจ การรักษาด้วยยาต้านไวรัส การรับฮอร์โมน และการศัลยกรรมปรับเปลี่ยนร่างกาย เป็นต้น

“สมัยตอนที่ตนกำลังจะข้ามเพศใหม่ๆ ตอนนั้นก็ยังไม่มีความรู้เลย อย่างเรื่องการรับฮอร์โมนก็ฟังต่อๆ มาจากรุ่นพี่ๆ ว่ายาตัวนั้น ตัวนี้ดี แต่ไม่เคยมีความรู้ที่แท้จริงเลยว่า ควรเป็นอย่างไร เพราะไม่มีคนให้คำปรึกษาในเรื่องพวกนี้ จนภายหลังมาทราบว่า มีบริการตรวจวัดระดับฮอร์โมน การจะข้ามเพศปรับเปลี่ยนร่างกายที่ถูกต้องต้องเป็นอย่างไรในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่เหล่าคนข้ามเพศยังไม่มี ทำให้มีเพื่อนหญิงข้ามเพศหลายคนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องมาจากเอดส์ การทำศัลยกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนร่างกายที่ไม่ได้มาตรฐาน การใช้ยาฮอร์โมนเกินขนาด หลายคนกำลังศึกษาเล่าเรียน และหลายคนอยู่ในวัยทำงาน ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนประเทศอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้ มองว่าระบบบริการสุขภาพจะต้องช่วยเหลือ ซึ่งอยากให้มีคลินิกเฉพาะด้านสุขภาพทางเพศของคนข้ามเพศ เพื่อที่ผู้มารับบริการจะได้สบายใจ กล้าพูดกล้าคุยกล้าซักถามมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและคลินิกชุมชนสำหรับคนข้ามเพศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อผู้มารับบริการและไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ จึงอยากให้หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญ และออกแบบบริการที่เป็นมิตรและครอบคลุมมากขึ้น” มิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส 2016 กล่าว

ด้าน พอลลีน งามพริ้ง หรือ พินิจ งามพริ้ง (ชื่อเดิม) อดีตผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และอดีตแกนนำกลุ่ม “เชียร์ไทย” ซึ่งเปิดตัวเป็นผู้หญิงข้ามเพศ กล่าวว่า ตนถือว่าเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทั้งนี้ ในอดีตและปัจจุบันมองว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพทางเพศของกลุ่มคนข้ามเพศ เช่น การรับฮอร์โมน การศัลยกรรมยังค่อนข้างจำกัด อย่างช่วงสมัยที่ตนสับสนอยากเปลี่ยนข้ามเพศ ก็พยายามหาข้อมูล แต่ข้อมูลที่ได้คือข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเชื่อถือได้หรือไม่ หลายคนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ไปปรึกษาใคร เพราะไม่มีความรู้ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล และสิ่งแวดล้อมก็กดดัน บางครั้งคนเหล่านี้ก็ฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่ทราบว่ามีความเครียดอะไรหรือเพราะอะไร เพราะไม่กล้าเปิดเผยตัวตน หรือแม้แต่บางคนที่เปิดเผยก็ยังไม่ได้รับการยอมรับก็มี แต่ตนถือว่าโชคดีเพราะได้เดินทางไปรับการปรึกษาที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะมลรัฐแคลิฟอเนีย ซึ่งเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งก็มีคลินิกที่ให้บริการในเรื่องเหล่านี้มากกว่า 10-20 แห่ง จึงอยากให้ประเทศไทยส่งเสริมเรื่องระบบบริการสุขภาพทางเพศของกลุ่มคนข้ามเพศให้มากขึ้น และต้องแก้ปัญหาเรื่องทัศนคติของผู้ให้บริการที่ยังมองว่าคนข้ามเพศไม่ปกติ และมีบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการให้คำปรึกษา การทำให้คนข้ามเพศเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง เช่น ควรมีสายด่วนฮอตไลน์ให้ปรึกษา หรือมีเว็บไซต์หลักโดยเฉพาะที่ให้ข้อมูลในเรื่องเหล่านี้

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในระบบบริการสุขภาพตามปกติ ทุกคนมีสิทธิในการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีคนละ 2 ครั้งต่อปี หากตรวจพบเชื้อก็สามารถรับยาต้านไวรัสได้ฟรี แต่การเข้าถึงของกลุ่มคนข้ามเพศยังอยู่เพียงแค่ 70% เท่านั้น ก็ต้องมาหาสาเหตุว่า เหตุใดจึงมารับบริการน้อย ขณะเดียวกันระบบสาธารณสุขเองก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อผู้มารับบริการด้วย แต่ยอมรับว่าแพทย์เองก็มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้น้อยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ก็มีการหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายระบบ ทั้งแผนกสูตินรีเวช ด้านฮอร์โมน และ ศัลยกรรม เพื่อออกแบบระบบบริการสุขภาพที่สอคล้องกับความต้องการของกลุ่มคนข้ามเพศ ให้ผู้มารับบริการสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีการเชิญกลุ่มคนข้ามเพศมาร่วมให้ความเห็นและเสนอความต้องการในรบบบริการสุขภาพด้วย ส่วนที่จะมีการแยกคลินิกบริการหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาจากความเหมาะสมและบริบทขงแต่ละพื้นที่ แต่โดยหลักการคือทำให้ผู้มารับบริการสะดวกมากยิ่งขึ้น

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านสุขภาพทางเพศ ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลบางรักเก่า ซึ่งกรมฯ จะผลักดันให้เป็นศูนย์ที่ดูแลเฉพาะทางด้านสุขภาพทางเพศ ให้บริการในทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มคนข้ามเพศด้วย ซึ่งอาจมีการตั้งคลินิกเฉพาะต่างหาก เพราะอาคารของศูนย์ดังกล่าวถือว่ามีพื้นที่กว้างขวาง อาคารสูงประมาณ 17 ชั้น โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 4 ปี” นพ.สมาน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น