สธ. เสนอบริจาคเงินให้ รพ. ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เผยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างชง ครม. เพื่อประกาศเป็น พ.ร.ฎ. ด้าน “หมอเจตน์” ชูเป็นแนวทางหนึ่งแก้ปัญหาการเงิน รพ. ระบุ คลังเห็นชอบให้บริจาคเข้า รพ. โดยตรง หวังให้ สตง. ตรวจสอบได้ ไม่รวมบริจาคผ่านมูลนิธิ
วันนี้ (31 ส.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงปัญหาทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยระบุว่า สธ. มีความพยายามหาเงินมาเพิ่มให้ระบบ วิธีหนึ่งที่เสนอในคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุขเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา คือ การดึงเงินจากผู้บริจาคให้กับ รพ. ต่างๆ โดยใช้แรงจูงใจด้วยการหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว ซึ่งกรมสรรพากรเห็นด้วย แต่ขอกำหนดให้บุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ครอบคลุมระยะเวลา 3 - 5 ปี และต่อเป็นครั้งๆ และขอให้ไม่รวมการบริจาคทรัพย์สินหรือสิ่งของ และต้องเป็นการบริจาคให้ รพ. โดยตรงไม่รวมถึงการบริจาคให้มูลนิธิ หมายถึงการบริจาคให้เป็นเงินบำรุงเพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบได้ แต่อาจให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค โดยกระทรวงการคลังจะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือประกาศกระทรวงต่อไป
“น่าเสียดายที่กระทรวงคลังไม่ยอมให้บริจาคเข้ามูลนิธิด้วยวิธีนี้ เพราะสะดวกและคล่องตัวกว่าระเบียบเงินบำรุงเยอะ อนึ่ง การบริจาคให้โรงเรียนในขณะนี้สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่ามานานแล้ว กรรมการปฏิรูปการศึกษากำลังจะเสนอให้หักลดหย่อนได้ 3 เท่า แต่ก็ยังดี เชื่อว่า ประชาชนทั่วไปในขณะนี้เห็นใจ รพ. ทุกแห่งที่ประสบปัญหาด้านงบประมาณอยู่แล้ว มาตรการนี้เชื่อว่าจะเพิ่มเงินบริจาคได้แน่ครับ” นพ.เจตน์ กล่าว
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า เป็นข้อเสนอของทางโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ที่เสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่บริจาคเงินให้โรงพยาบาลนั้นจะสามารถลดหย่อนภาษีได้เพียง 1 เท่า จึงมีข้อเสนอว่าน่าจะมีการปรับปรุงใหม่ โดยให้เหมือนกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำหนดว่า ผู้บริจาคเงินเข้าสถานศึกษาสามารถลดหย่อนได้ 2 เท่า ที่ผ่านมา รมว.สธ.ได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และตนได้หารือกับกรมสรรพากร ซึ่งก็เห็นด้วย โดยมาตรการนี้จะเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือ รพ. ได้
“การลดหย่อนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. หากบริจาคเป็นเงิน ผู้บริจาคจะลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว ซึ่งผู้บริจาคเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล และ 2. หากบริจาคเป็นเครื่องมือแพทย์ สิ่งของ หรืออาคาร จะต้องเป็นนิติบุคคลจึงจะลดหย่อนได้ เบื้องต้นเรื่องนี้กรมสรรพากรจะเป็นผู้เสนอต่อทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป” ปลัด สธ. กล่าว