xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ศูนย์ควรดูแล “โรคซับซ้อน” เปิดโมเดล “รพ.ขอนแก่น” กระจายรักษาโรคทั่วไป ใกล้บ้าน สะดวก ลดแออัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

เมื่อเจ็บป่วยไม่ว่าจะมากหรือน้อย คนส่วนใหญ่มักพุ่งตรงไปโรงพยาบาลก่อน ยิ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์เฉพาะทางจำนวนมาก ก็ยิ่งเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ ทำให้แม้โรงพยาบาลจะมีขนาดใหญ่เพียงใด ก็ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนมากจนเกิดความแออัด ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน การรอคิวต่างๆ ก็ยิ่งนาน ทั้งที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ควรจะเป็นโรงพยาบาลที่ดูแลรักษาโรคที่มีความยากและซับซ้อน

“โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น” ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการบริหารจัดการ ที่สามารถกระจายการดูแลรักษาโรคทั่วไปไม่ซับซ้อนและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านผู้ป่วยได้ ช่วยให้ผู้ป่วยมีความสะดวก ลดการเดินทางเข้ามารักษาในโรงพยาบาล จนกระทั่งสามารถปิดคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไป (OPD Walk-in) ช่วยลดความแออัดภายในโรงพยาบาล

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า รพ.ขอนแก่นเป็นโรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียง ดูแลประชากรในเขตเมืองซึ่งมีทั้งหมด 18 ตำบล 282 หมู่บ้าน 98 ชุมชน รวมประชากรทั้งหมด 432,993 คน แต่ที่ผ่านมามีปัญหาคือมีการผู้ป่วยมารับบริการที่ รพ.ขอนแก่นจำนวนมาก เนื่องจากเขตเมืองไม่มีโรงพยาบาลชุมชน ผู้ป่วยจึงมากระจุกตัวอยู่ที่ รพ.ขอนแก่น อัตราการครองเตียงสูงถึง 104.44% ขณะที่การบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิก็ยังมีปัญหา ทั้งเรื่องการกระจายกำลังคน ระบบการจัดการ และการจัดการด้านการเงิน

จากการวิเคราะห์พบว่า ความแออัดใน รพ.ขอนแก่นเกิดจาก เขตเมืองของขอนแก่นไม่มีโรงพยาบาลชุมชนรองรับ ผู้ป่วยจึงตรงมายัง รพ.ขอนแก่นเลย การรับส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอต่างๆ ของ จ.ขอนแก่น และการรับดูแลผู้ป่วยที่มาจากจังหวัดอื่น การแก้ปัญหาจึงมีแผนพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิขึ้น เพื่อให้คนในอำเภอเมืองเข้ารับบริการให้บ้านมากที่สุด เสมือนมีโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ พร้อมกับดำเนินการเรื่องลดขั้นตอนและระยะเวลารับบริการ และพัฒนาระบบส่งต่อและระบบนัดผู้ป่วยกับโรงพยาบาลชุมชนในอำเภออื่นๆ ของจังหวัดขอนแก่น เพื่อแก้ปัญหา” ผอ.รพ.ขอนแก่นกล่าว

สำหรับการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมินั้น พญ.รุจิราลักษณ์ พรหมเมือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และหัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า รพ.ขอนแก่นมีการจัดตั้งศูนย์แพทย์ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยบริการในเครือข่ายมาตั้งแต่ปี 2538 คือ ศูนย์แพทย์มิตรภาพ ต่อมาปี 2540 เปิดศูนย์แพทย์วัดหนองแวงพระอารามหลวง ปี 2546 เปิดศูนย์แพทย์ชาตะผดุง และปี 2552 เปิดศูนย์แพทย์ประชาสโมสร แต่การดำเนินการลดความแออัดของ รพ.ขอนแก่นนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2552-2554 โดยการเสริมศักยภาพให้หน่วยบริการปฐมภูมิทั้ง 4 แห่งดังกล่าว ด้วยการเสริมบุคลากร มีแพทย์ลงไปประจำ พร้อมสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ และจัดให้หน่วยบริการทั้ง 4 แห่งเป็นโหมด หรือเป็นเครือข่ายบริการย่อยในการดูแลต่อจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ไม่มีแพทย์อยู่ประจำ ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการดูแลรักษาโรคไม่ซับซ้อนที่หน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้น จนในที่สุดปี 2555 ก็สามารถปิดบริการคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไปหรือ OPD Walk in ที่ รพ.ขอนแก่นได้

สาเหตุที่ทำให้การดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จ พญ.รุจิราลักษณ์อธิบายว่า มาจากการที่มีแพทย์ไปอยู่ประจำและมีสหสาขาวิชาชีพครบในการดูแล เรียกได้ว่าเป็น One Stop Service คือ ได้รับบริการเหมือนมาที่ รพ.ขอนแก่น ยา เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ก็เหมือนกับที่ รพ.ขอนแก่น ที่สำคัญคือมีความใกล้บ้าน สะดวกในการเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลาทั้งวันเหมือนแต่ก่อน ทำให้ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ อีกทั้งมีความคุ้นเคยกับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลรักษาประจำ เพราะมีการให้บริการมาตั้งแต่ปี 2552 จึงทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ เชื่อถือ และศรัทธาในการมารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิมากกว่าการที่จะเดินทางเข้ามารับบริการในโรงพยาบาล

ช่วงก่อนที่จะปิดบริการคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไป ได้มีการหารือกันทั้ง รพ.ขอนแก่น และหน่วยบริการปฐมภูมิว่ามีความพร้อมหรือไม่อย่างไร ซึ่งเมื่อทุกหน่วยพร้อม ก็เลยประกาศย้ายบริการผู้ป่วยนอกทั่วไปไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ใกล้บ้าน สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรใช้คำว่าย้ายบริการออกไปนั้น ทำให้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดย รพ.ขอนแก่นได้จัดเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำ พร้อมจัดบริการรถรับส่งด้วย และมีกาประชาสัมพันธ์นานกว่า 2-3 เดือน ก่อนที่จะปิดบริการที่ รพ.ขอนแก่น ทำให้สามารถดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ รพ.ขอนแก่นจึงสามารถเพิ่มคลินิกผู้ป่วยนอกโรคเฉพาะทางต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยลดความแออัดและการรอคิวต่างๆ ลงได้ เพื่อให้โรงพยาบาลศูนย์สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้น ไม่มีผู้ป่วยทั่วไปมาปะปน” พญ.รุจิราลักษณ์กล่าว

พญ.รุจิราลักษณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในปี 2557 ก็เริ่มดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในเรื่องของทีมหมอครอบครัวในการลงพื้นที่ดูแลสุขภาพประชาชน ปี 2559 จัดตั้งระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care Cluster : PCC) ซึ่งผ่านเกณฑ์ 1 แห่ง โดยปี 2560 มีแผนดำเนินการอีก 3 แห่ง และปี 2561-2569 วางแผนพัฒนา PCC อีก 8 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการปฐมภูมิที่เป็นด่านแรกเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกินขีดความสามารถจึงส่งต่อตามระบบ

“สำหรับระบบบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิ มีจำนวนมาก แบ่งเป็น 1. ตรวจวินิจฉัย รักษาโรคทั่วไป โรคเรื้อรังและอุบัติเหตุฉุกเฉิน 2. บริการทำหัตถการผ่าตัดเล็ก อุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3. การคัดกรองภาวะแทรกซ้อนจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4. คลินิกฝากครรภ์ คลินิกสุขภาพเด็กดี บริการฉีดวัคซีนพื้นฐาน บริการเพื่อใจวัยรุ่น และให้คำปรึกษา 5. ให้บริการด้านทันตกรรม โดยทันตแพทย์และทันตาภิบาล และ 6. บริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” พญ.รุจิราลักษณ์กล่าว

ทั้งนี้ จากการดำเนินการเรื่องคลินิหมอครอบครัวและระบบบริการปฐมภูมิดังกล่าวช่วงปี 2559-2560 พญ.รุจิราลักษณ์ระบุว่า ผลลัพธ์เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ โดยพบว่าจำนวนผู้รับบริการผู้ป่วยนอกที่เครือข่ายปฐมภูมิของ รพ.ขอนแก่นในปี 2557-2559 เพิ่มขึ้น 45.6% ใน 3 ปี คลินิกหมอครอบครัวสามารถรักษาบริการผู้ป่วยนอกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ถึง 26,621 คนต่อเดือน หรือ 319,451 คนต่อปี และ 75,480 ครั้งบริการต่อเดือน หรือ 905,762 ครั้งบริการต่อปี ลดระยะเวลาการรอคอยจาก 184 นาทีที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 47 นาทีที่คลินิกหมอครอบครัว ผู้ป่วยได้รับความสะดวกรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนการมารับบริการระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่ายกับโรงพยาบาลแม่ข่ายคิดเป็น 74 : 26 สามารถลดรายจ่ายได้ถึง 8.9 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 107 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากเมื่อมารับบริการที่หน่วยปฐมภูมิมีรายจ่ายเกิดขึ้น 80 ล้านบาทต่อปี แต่หากรับบริการที่ รพ.ขอนแก่นจะมีค่าใช้จ่าย 188 ล้านบาทต่อปี

“ส่วนประชาชนก็ลดรายจ่ายด้วยคือ ค่าใช้จ่ายการเดินทางหากมา รพ.ขอนแก่นจะอยู่ที่ 53 ล้านบาทต่อปี แต่ค่าเดินทางไปรับบริการหน่วยปฐมภูมิอยู่ที่ประมาณครั้ละ 40 บาท จึงอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี ประหยัดไปได้ถึง 43 ล้านบาทต่อปี และยังลดการสูญเสียรายได้จากการไม่ได้ทำงานเมื่อมารับบริการใน รพ.ขอนแก่น หากเป็นผู้ป่วยรายเดียวลดได้ถึง 95 ล้านบาทต่อปี แต่หากผู้ป่วยมาพร้อมญาติอีก จะช่วยลดได้ถึง 191 ล้านบาทต่อปี” พญ.รุจิราลักษณ์ กล่าว

พญ.รุจิราลักษณ์กล่าวว่า นอกจากจัดระบบบริการดังกล่าวแล้ว ยังเดินหน้าเรื่องการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกด้วย ทั้งการให้สุขศึกษา การคัดกรองความเสี่ยง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 5 กลุ่มวัย การควบคุมป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภค ขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ โดยร่วมเยี่ยมบ้าน ดูแลประชาชนในพื้นที่ใกล้บ้านที่หลายรูปแบบแบบองค์รวมและแบบต่อเนื่อง ผ่านการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ

ถือได้ว่าเป็นโมเดลหนึ่งของการลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล และทำให้โรงพยาบาลศูนย์กลายเป็นโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนและโรคเฉพาะทางต่างๆ อย่างแท้จริง และสามารถทำได้ดีและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น