องค์การอนามัยโลก ชมไทยผู้นำโลกด้านส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เตรียมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการโลกด้านกิจกรรมทางกายภายในปี 61 พร้อมสร้างเครือข่ายสุขภาพระดับนานาชาติให้ประชากรไม่น้อยกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก มีสุขภาพดี ลดภาระจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขณะที่ไทยเล็งส่งเสริมกิจกรรมทางกายกลุ่มเด็ก - เยาวชน เหตุเนือยนิ่งจากโลกสังคมออนไลน์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลกจัดเวทีการประชุมหารือระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิจาก 7 ประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวข้อแผนปฏิบัติการโลกด้านกิจกรรมทางกายระหว่างวันที่ 23 - 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเอทัส สาธร กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายภาคปฏิบัติจาก 7 ประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชียใต้ และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ติมอร์-เลสเต ไทย บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ อินเดีย อินโดนีเซีย เพื่อระดมความเห็นแนวทางการสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละภูมิภาค
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีนับเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์งานขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายเพื่อให้ประชากรไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นภายในปี 2573 ซึ่งความหมายของ “กิจกรรมทางกาย” เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งครอบคลุมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มเด็กเป็นโจทย์ท้าทายเพราะมีกิจกรรมทางกายน้อย เนื่องจากพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ การนั่งใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การนั่งหรือนอนดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาโรคไม่ติดต่อ ยกตัวอย่างเช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ซึ่งวารสารด้านสาธารณสุข Lancet ประมาณการค่าเสียหายทางเศรษฐกิจจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ อยู่ที่ 67,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และประเทศไทยอยู่ที่ 2,400 ล้านบาทต่อปี
ดร.แดเนียล เคอร์เตส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมประเทศไทยโดย สสส. และกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานสำคัญที่จุดประกาย กระตุ้น และส่งเสริมให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับคนไทยทุกคน และขับเคลื่อนให้มีการยกระดับการทำงานทั้งในภูมิภาคและเวทีโลก ซึ่งงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกิจกรรมทางกายไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย แต่ยังเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนท้องถนน การเพิ่มพื้นที่สันทนาการ การวางแผนจัดการความเป็นเมือง และการศึกษาด้วย
ดร.แดเนียล กล่าวว่า โจทย์ที่ท้าทายคือ กลุ่มประชากรวัยรุ่นทั่วโลกทั้งในกลุ่มประเทศร่ำรวยและระดับปานกลาง เป็นกลุ่มสำคัญที่ยังมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับกลุ่มวัยรุ่น สาเหตุหลักๆ คือ พฤติกรรมเนือยนิ่ง วัฒนธรรมมือถืออาจส่งผลกระทบกับสุขภาวะที่ดีของกลุ่มช่วงอายุที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป อย่างไรก็ตามประเทศไทยสามารถนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการเชื่อมโยงเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมให้ลดการใช้รถ เพิ่มความปลอดภัยทางท้องถนน สาเหตุสำคัญคือประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศลิเบีย นอกจากนี้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทางเท้า และเลนจักรยานจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ศ.ดร.ฟิโอนา บลู ผู้จัดการโครงการเฝ้าระวังและการป้องกันกลุ่มประชากร องค์การอนามัยโลก สำนักงานใหญ่กรุงเจนีวา กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลและคล้ายคลึงกันในทุกประเทศ ถ้าไม่ทำอะไรจะกลายเป็นภาระมหาศาลของทุกประเทศ ซึ่งข้อเสนอความเห็นที่ได้จากภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะทำงานขององค์การอนามัยโลกจะรับฟังแนวคิดและข้อเสนอจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคอื่นๆ ก่อนนำเสนอแผนปฏิบัติการสากลต่อที่ประชุมเวทีสมัชชาอนามัยโลก เพื่อรับมติในเดือนพฤษภาคม 2561 ต่อไป