xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสังคมแจง “ผู้ป่วยมะเร็งมัยอีลอยด์” มีสิทธิรับยาตามดุลพินิจหมอ แต่เบิกจ่ายให้แค่ปลูกถ่ายไขกระดูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประกันสังคมแจง “ผู้ป่วยมะเร็ง” ร้องเบิกยารักษาระยะสุดท้ายไม่ได้ ชี้ ทุกคนมีสิทธิรับการรักษา และยาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ สปส.คุ้มครองค่ารักษาเฉพาะการปลูกถ่ายไขกระดูก

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยร้องไม่สามารถใช้สิทธิเบิกยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ได้ เนื่องจากเป็นระยะที่สาม เนื่องจาก สปส. ให้สิทธิเฉพาะการป่วยระยะแรก ว่า สปส. ได้ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ โดยผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับยาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน การรักษาโรคมะเร็งแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าการรักษาวิธีนั้นๆ แล้วไม่ได้ผล หรือไม่ตอบสนองต่อยาที่รักษา สามารถใช้แนวทางการรักษาอื่นๆ ได้ โดย สปส. คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาพิจารณาการรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ประกันตนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยโรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายไขกระดูกจะได้รับค่าบริการทางการแพทย์จาก สปส. ในอัตรา 750,000 บาทต่อราย หรือ 1,300,000 บาทต่อราย แล้วแต่กรณี

นพ.สุรเดช กล่าวว่า หลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ กรณีโรคมะเร็ง สปส. มีการจ่ายเพิ่มนอกเหนือจากการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย ในกรณีให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจาก สปส. เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อรายต่อปี อย่างไรก็ตาม สปส. ยังมุ่งมั่นในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต และเดินหน้าพัฒนาสิทธิประโยชน์ รวมถึงการพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ประกันตนอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น