นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ เผย “วัคซีนไข้เลือดออก” ป้องกันโรคกลุ่มเคยติดเชื้อได้ถึง 81% สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อ เหตุวัคซีนกระตุ้นความจำร่างกาย ย้ำฉีดแล้วไม่เป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 ไม่ต้องกังวลทำป่วยรุนแรง หลังศึกษา 6 ปีไม่พบเคส เวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล ห่วงคนติดเชื้อไข้เลือดออกแต่ไม่ป่วยมีสูงกว่า 3 เท่าของผู้ป่วย แพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ป่วยถึง 10 เท่า
ความคืบหน้าหลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออกเมื่อช่วงปลายปี 2559 ทำให้สามารถนำมาฉีดให้ประชาชนตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้
วันนี้ (22 ส.ค.) ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีการแถลงข่าวเรื่อง “วัคซันไข้เลือดออก : จุดเปลี่ยนเพื่อการป้องกันแบบองค์รวม” โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนไข้เลือดออกเป็นการผสมกันระหว่างวัคซีนเชื้อไข้เหลืองกับชิ้นส่วนของเชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ จึงไม่ใช่วัคซีนที่เป็นเชื้อไข้เลือดออกล้วนๆ โดยเป็นวัคซีนที่ไม่ก่อโรค แต่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วเมื่อได้รับวัคซีนไข้เลือดออก สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้มากถึง 81.9% ต่างจากผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งป้องกันได้ 52.5% เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะไปกระตุ้นความจำของร่างกาย ดังนั้น คนที่เคยติดเชื้อเดงกีมาก่อนไม่ว่าจะกี่สายพันธุ์ เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปก็จะเหมือนเรียกความจำคืนให้ร่างกาย ทำให้ได้ผลดีกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งร่างกายจะไม่มีความจำมาก่อน
“การศึกษานี้พิสูจน์ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกไม่ทำให้เกิดโรคไข้เลือด ไม่เหมือนการติดเชื้อโดยธรรมชาติจากการถูกยุงกัด ส่วนที่กลัวว่าฉีดแล้วจะเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 ทำให้อาการป่วยรุนแรงนั้น จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างกว่า 30,000 คน เป็นระยะเวลา 6 ปียังไม่พบเหตุการณ์ดังกล่าว ”รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวและว่า วัคซีนไข้เลือดออกสามารถป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยข้อแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 9 - 45 ปี กำหนดให้มีการฉีด 3 ครั้ง เว้นระยะ 6 เดือน และ 12 เดือนจากการฉีดเข็มแรก ซึ่งการฉีดแต่ละครั้งจะก่อภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจะสามารถมีระยะเวลาการป้องกันโรคได้นานแค่ไหนหลังจากฉีดครบ ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่จากการติดตามผู้ที่ฉีดมาเป็นเวลา 6 ปี พบว่าภูมิคุ้มกันยังสูงอยู่
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 16 ส.ค. 2560 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศรวม 29,844 ราย อัตราป่วยสูงสุดในเด็กอายุ 5 - 14 ปี รวมทั้งวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นอายุ 15 - 24 ปี อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้เสียชีวิตมีสัดส่วนเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยพบผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 24 ราย ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิต 17 ราย ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ การไปรับการรักษาช้า ซื้อยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID มารับประทานเอง มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ เช่น ภาวะอ้วน มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ทั้งนี้ การผลักดันวัคไข้เลือดออกเป็นวัคซีนพื้นฐานของประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาความคุมทุน
รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวว่า ขณะนี้มีการวิจัยบ่งชี้ว่า กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี แต่ไม่มีอาการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมีจำนวนสูงมากประมาณ 3 เท่าของผู้ป่วยที่มีอาการ ที่สำคัญและน่าเป็นห่วง คือ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สามารถแพร่เชื้อผ่านยุงลายไปยังผู้อื่นได้มากกว่า 10 เท่า ในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยสูญเสียเงินไปกับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคไข้เลือดออกสูงมากถึง 290 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซีย