จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า คนไทยมีแนวโน้มในการป่วยโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2556 พบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 5.4 หมื่นคน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือชั่วโมงละ 6 คน โรคหัวใจแและหลอดเลือด จึงเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ รพ.อานันทมหิดล จ.ลพบุรี ถือเป็นโรงพยาบาลทหารที่มีขนาดใหญ่ติดท็อป 3 ของกรมแพทย์ทหารบก มีสถานะเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ และโรงเรียนแพทย์ในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านบางสาขา ถือว่ามีความเชี่ยวชาญในการรักษาหลายด้าน โดยไม่กี่ปีมานี้ ได้มีการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการดูแลเรื่องโรคหัวใจ
พ.อ.นพ.กุลดนัย สุพิมพ์ ประธาน CUP รพ.อานันทมหิดล จ.ลพบุรี กล่าวว่า เดิมโรงพยาบาลก็พอมีแพทย์ด้านหัวใจอยู่บ้าง แต่ก็ได้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลในการให้บริการด้านโรคหัวใจมากขึ้น ทั้งการพัฒนาแพทย์ด้านหัวใจ แพทย์สวนหัวใจเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนพัฒนาห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization Laboratory) โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือ และห้อง ที่สามารถดูแลผู้ป่วยด้านหัวใจได้อย่างครบถ้วน
สำหรับการให้บริการดังกล่าว พ.อ.นพ.กุลดนัย เล่าว่า เริ่มให้บริการเมื่อราว 3 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงแรกให้บริการในส่วนของผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ และประกันสังคมก่อน ต่อมาจึงร่วมเป็นหน่วยสวนหัวใจในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ด้วย ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นไปตามนโยบายของกรมแพทย์ทหารบกและผู้อำนวยการ รพ.อานันทมหิดล ที่เมื่อลงทุนพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลขึ้นมาแล้วต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ดูแลประชาชนในทุกสิทธิ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น จึงเข้าร่วมเป็นหน่วยสวนหัวใจในการดูอลคนไข้สิทธิบัตรทองด้วย ซึ่งเมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาตรวจประเมินเพื่อเข้าร่วมโครงการ ก็ผ่านทั้งหมด สามารถให้การดูแลได้ เป็นการแบ่งเบาโรงพยาบาลอื่นในการดูแลรักษา
“เดิมก่อนที่จะพัฒนาศักยภาพด้านโรคหัวใจและสวนหัวใจ ต้องส่งต่อคนไข้ไปรักษาที่กรุงเทพฯ เช่น รพ.พระมงกุฎ หรือส่งไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพสูงกว่า เช่น รพ.สระบุรี แต่เมื่อมีการพัฒนาศักยภาพของ รพ.อานันทมหิดล ขึ้นมาเอง ก็ช่วยให้การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ได้มากขึ้น ลดจำนวนการส่งต่อ ลดปัญหาการเดินทางไกล การรอคิวนาน” พ.อ.นพ.กุลดนัย กล่าว
สำหรับห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด พบว่า มีการให้บริการที่ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดค้ำยัน การอัลตราซาวนด์หัวใจ การกรอหินปูนที่ผนังหลอดเลือดด้วยหัวกรอเพชร (Rotablator) เพื่อรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ส่วนการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองนั้น มีรายงานว่า เคสแรกเป็นคุณตาวัย 80 ปี ซึ่งสามารถให้การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบได้เป็นผลสำเร็จ
พ.อ.นพ.กุลดนัย กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการดูแลผู้ป่วยหรือการรักษาด้วยการสวนหัวใจ ก็จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจพิจารณาปัจจัยต่างๆ ในการให้การรักษา ซึ่งจะมีการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไปในระยะยาว เพื่อดูแลประชาชนในทุกสิทธิการรักษา