xs
xsm
sm
md
lg

อย.เชื่อขึ้นภาษี “น้ำหวาน” ไม่ผลักภาระ ปชช.เหตุผู้ผลิตหันทำสูตร “น้ำตาลน้อย” มากขึ้น รับเทรนด์สุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก NOELiZ http://hellomiki.com/
อย. ชี้ เก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณ “น้ำตาล” ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ชนิดผง “ทรีอินวัน” กลุ่มหัวเชื้อที่ต้องผสมน้ำ ย้ำวัดค่าน้ำตาลตามหน่วยบริโภค ยัน “น้ำผัก - ผลไม้” ต้องเสียภาษีด้วย หวังเติมน้ำตาลน้อยลงเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแท้จริง เชื่อ ไม่เป็นภาระ ปชช. เหตุผู้ประกอบการหันทำสูตรน้ำตาลน้อยมากขึ้น รองรับตลาดสุขภาพ

น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอัตราภาษีเครื่องดื่มตามระดับความหวาน รองรับ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ว่า คำนิยามของเครื่องดื่มที่จะต้องเสียภาษีตามค่าความหวานหรือภาษีน้ำตาลนั้น กรมสรรพสามิตได้อ้างอิงตามคำนิยามของ อย. ซึ่งไม่ได้มีแค่เครื่องดื่มที่เป็นน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเครื่องดื่มผงที่ต้องชงดื่ม เช่น กลุ่มทรีอินวัน เป็นต้น หรือเครื่องดื่มที่เป็นหัวเชื้อ เช่น น้ำหวานเข้มข้น เป็นต้น ที่จะต้องนำมาผสมน้ำตามอัตราส่วนบนฉลากเพื่อเป็นเครื่องดื่มในการบริโภคด้วย

“สำหรับการคิดอัตราภาษีความหวานนั้นจะเป็นลักษณะของ “เซิร์ฟวิงไซส์ (Serving Size)” คือ วัดค่าน้ำตาลตามหน่วยบริโภค อย่างน้ำหวานเข้มข้น ก็จะคิดหลังจากผสมน้ำตามสัดส่วนที่กำหนดแล้ว เช่น ผสมออกมาเป็น 1 แก้ว 200 มิลลิลิตร มีน้ำตาลอยู่เท่าไร ก็ค่อยคิดภาษีตามอัตราใหม่ที่กรมสรรพสามิตกำหนด” น.ส.ทิพย์วรรณ กล่าวและว่า การที่ อย. มีข้อกำหนดในเรื่องของฉลากโภชนาการด้านหลังของผลิตภัณฑ์ และฉลากหวานมันเค็ม หรือฉลากจีดีเอ เพื่อแสดงข้อมูลส่วนผสมของเครื่องดื่ม ช่วยให้กรมสรรพสามิตทราบถึงส่วนประกอบทั้งหมดภายในผลิตภัณฑ์นั้น และจัดเก็บภาษีได้ง่ายขึ้น

เมื่อถามถึงน้ำผักผลไม้จำนวน 111 รายการ ที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีสรรพสามิต เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกร แต่ต้องมาเสียภาษีน้ำตาลแทน น.ส.ทิพย์วรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องดื่มมากกว่า 50 - 60% ล้วนมีส่วนผสมของน้ำตาลทั้งสิ้น อย่างน้ำผัก น้ำผลไม้ ก็มีการเติมน้ำตาลลงไปอีก ทั้งที่ผักหรือผลไม้ก็มีน้ำตาลในตัวเองอยู่แล้ว อย. จึงเสนอว่าไม่ควรยกเว้น ควรมีการจัดเก็บภาษีที่ทัดเทียมกัน ที่สำคัญ เพื่อให้เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพจริงๆ สำหรับการคิดภาษีน้ำตาลจะคิดแบบ “โทเทิลซูการ์ (Total Sugar)” คือ น้ำตาลทั้งหมดในเครื่องดื่ม ไม่มีการแยกว่าเป็นน้ำตาลที่เกิดจากวัตถุดิบของเครื่องดื่มอยู่แล้ว เช่น น้ำตาลจากผักและผลไม้ เป็นต้น แล้วจะไม่คิดภาษี เพราะการตรวจสอบทำได้ยากและค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงใช้วิธีการคิดน้ำตาลทั้งหมดในเครื่องดื่ม

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลจะเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค เพราะเมื่อเสียภาษีมากขึ้นจากน้ำตาล อาจมีการขึ้นราคาเครื่องดื่ม น.ส.ทิพย์วรรณ กล่าวว่า แนวโน้มไม่น่าเป็นเช่นนั้น เพราะจากการที่มีการส่งสัญญาณเรื่องการเก็บภาษีตามค่าน้ำตาล หรือความหวานมาก่อนหน้านี้ พบว่า ผู้ประกอบการเครื่องดื่มให้ความสนใจจำนวนมาก จะเห็นได้ว่า ตลาดเครื่องดื่มขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ประเภทสูตรน้ำตาลน้อยออกมามากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเองก็อยากจะปรับตัวทำเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อรองรับเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังมาในช่วงนี้ และเป็นการทดลองตลาดก่อนที่จะมีการเก็บภาษีจริง ซึ่งเท่าที่มีผู้ประกอบการเครื่องดื่มเข้ามาพูดคุยกับ อย. หลายราย ก็พบว่า ยินดีที่จะทำสูตรน้ำตาลน้อยลงทั้งนั้น เพราะตลาดมีความเป็นไปได้ ลดต้นทุนจากการใช้น้ำตาล และจ่ายภาษีน้อยลง และที่สำคัญ เป็นการเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในการคิดภาษี ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ที่สำคัญหากเป็นสูตรน้ำตาลน้อย ก็สามารถมาขอฉลาก “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier Choice)” จาก อย. ได้อีก ก็เป็นการการันตีว่า เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น