xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคยัน ป.5 แน่นหน้าอกหลังฉีดวัคซีน “เอชพีวี” เป็นอุปทานหมู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค แจง นร.ป.5 แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หลังฉีดวัคซีนเอชพีวี เกิดจากอุปทานหมู่ จากวิตกกังวล ยันวัคซีนมีความปลอดภัย เกิดผลข้างเคียงน้อยมาก ส่วนเด็กที่อาการรุนแรงเกิดจากโรคประจำตัวหอบหืด

จากกรณีข่าวฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีนเอชพีวี ให้นักเรียนหญิงชั้น ป.5 จำนวน 16 คน ในโรงเรียนบ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก แล้วมีนักเรียนจำนวนหนึ่งเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก โดยมีรายหนึ่งมีอาการหนักเนื่องจากโรคประจำตัวหอบหืด แต่ทั้งหมดปลอดภัยแล้ว

วันนี้ (10 ส.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า แพทย์ประเมินอาการเบื้องต้นพบมี 4 ราย ส่งต่อโรงพยาบาล และแพทย์ในโรงพยาบาลทำการประเมินและสังเกตอาการ ก่อนให้ผู้ป่วย 3 รายกลับบ้านได้ ส่วนอีก 1 ราย รับการรักษาต่อในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มีประวัติเป็นหอบหืด ก่อนรับวัคซีน 2 วัน ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก โดยปกติผู้ป่วยจะพ่นยาแก้หอบหืดทุกวัน เช้า - เย็น แต่ในวันที่รับวัคซีน ผู้ป่วยไม่ได้พ่นยามาจากบ้าน แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากโรคประจำตัว ล่าสุด ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ปกติ แพทย์ยังคงให้รักษาตัวต่ออีก 1 - 2 วัน เพื่อสังเกตอาการและให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีนักเรียนที่รอฉีดวัคซีนแล้วมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ลักษณะดังกล่าวเรียกว่าอุปทานหมู่ ซึ่งเกิดจากอาการวิตกกังวลและกลัวการฉีดวัคซีน แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้พบได้บ่อย หากมีคนหนึ่งมีอาการผิดปกติ ก็สามารถกระตุ้นให้เด็กคนอื่นๆ มีอาการร่วมด้วย

นพ.เจษฎา กล่าวว่า สำหรับวัคซีนเอชพีวี เป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีความปลอดภัย ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนมักไม่รุนแรง ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปวด บวมแดง คัน ซึ่งเกิดบริเวณที่ฉีดวัคซีน บางรายอาจมีไข้ และปวดศีรษะ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงมีโอกาสพบได้แต่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากให้วัคซีนแล้วควรพักรอสังเกตอาการภายหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที หากพบผู้ป่วยที่มีอาการหรือมีความผิดปกติหลังได้รับวัคซีน เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจะได้ให้การดูแลเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่มีอาการรุนแรงไปโรงพยาบาลต่อไป

“การฉีดวัคซีนเอชพีวีครั้งนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ส.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยจะฉีดในเด็กหญิงชั้น ป.5 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ การฉีดวัคซีนให้เด็กหญิงในช่วงอายุ 10 - 12 ปี จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากเป็นการป้องกันตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อเอชพีวี คือ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ดังนั้น การป้องกันตั้งแต่แรกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย และเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะลุกลามแล้วจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาค่อนข้างสูง” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.พรศักดิ์ อยู่เจริญ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน คร. กล่าวว่า ปกติก่อนฉีดวัคซีนจะมีการซักถามว่า มีโรคประจำตัวอะไร ซึ่งจริงๆ การฉีดวัคซีนเอชพีวี ไม่ได้อันตราย อย่างโรคหอบหืดก็สามารถฉีดได้ เพียงแต่จะมีอาการหวาดวิตก หรือกังวลมากกว่า ส่วนที่รายอื่นๆ อาจมาจากการปวดจากการฉีดวัคซีนและมีความวิตกกังวลเป็นทุนเดิมด้วย โดยวัคซีนเอชพีวีไม่ได้มีความเสี่ยงจนต้องหวาดวิตก เพราะน้อยคนมากที่จะมีอาการแพ้วัคซีนชนิดนี้ เรียกว่าปีหนึ่งอาจพบได้แค่ 1 - 2 ครั้ง เกิดขึ้นไม่บ่อย อย่างผลข้างเคียงที่ชัดเจนคือ ภาวะเจ็บจากการฉีดวัคซีน ซึ่งน้อยมาก 2 - 3% แต่อาการปวดจากการฉีดวัคซีนจะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะวัคซีนชนิดนี้มีสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันทำให้ปวดมากได้ ซึ่งในคนไทยพบได้ประมาณ 20% แต่สำหรับต่างชาติจะพบมากกว่า 45% นอกนั้นไม่ได้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า อาการแพ้วัคซีนเอชพีวีจะเหมือนกับการแพ้ไข่ในวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หรือไม่ นพ.พรศักดิ์ กล่าวว่า อาการแพ้หรือไม่แพ้จะตอบยากมาก เพราะหากเด็กมีประวัติภูมิแพ้ก็อาจแพ้ได้ แต่ในกรณีของวัคซีนเอชพีวีแตกต่างจากวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากวัคซีนเอชพีวีไม่ได้ผลิตจากไข่ไก่ แต่มาจากการเพาะเซลล์ยีสต์ ซึ่งหากจะแพ้ก็มักจะเกิดจากการแพ้ยีสต์ โดยอาการแพ้จะเริ่มจากมีผื่นขึ้น ส่วนหากรุนแรงจะมีน้ำมูก หายใจไม่ค่อยออก อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวล ทุกครั้งที่ออกหน่วยฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉินคอยติดตามอยู่แล้ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่วัคซีนชนิดนี้ ปกติออกหน่วยแพทย์จะต้องมีทีมแพทย์ฉุกเฉินคอยประจำเตรียมพร้อมทุกครั้ง

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โอกาสการแพ้วัคซีนชนิดนี้พบน้อยมาก ส่วนใหญ่มีแค่อาการแพ้แค่ปวด บวมแดง บริเวณรอบฉีดวัคซีน ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยทางราชวิทยาลัยฯ จะติดตามกับทางกรมควบคุมโรค ว่า สาเหตุเกิดจากอะไร เพราะองค์การอนามัยโลกให้การรับรองถึงเรื่องความปลอดภัยในการฉีด และต่างประเทศก็ฉีดเป็นสิบปีแล้ว ประเทศไทยแค่เพิ่งเริ่มฉีดเท่านั้น การแพ้ต้องพิจารณาว่าเด็กมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เพราะการคัดหลักเกณฑ์ในการฉีด ช่วงวัยที่ได้ผลดีที่สุด คือ เด็ก ป.5 ซึ่งประเทศไทยมีเด็กกลุ่มนี้ถึง 4 แสนคน ฉีด 1 เข็ม และอีก 6 เดือน ก็ฉีดอีก 1 เข็ม เทียบกับวัยอื่นต้องฉีดถึง 3 เข็ม จึงนับว่าได้ผลดีที่สุด การฉีดวัคซีน จะไม่เห็นผลเลยใน 5 ปี แต่อีก 20 ปี จะเห็นผลแน่นอน เชื่อว่าจะลดอัตราการตายของหญิงไทยจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยปีละ 3,500 คนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น