xs
xsm
sm
md
lg

สูบบุหรี่ในบ้านพบ “เด็ก” ป่วยเจ็บคอบ่อย ส่วนหนึ่งหอบต้องพ่นยา เจอสารพิษในฉี่เด็กสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิจัยพบสูบบุหรี่ใน “บ้าน” ทำเด็กป่วยเป็นหวัดเจ็บคอบ่อย ส่วนหนึ่งมีอาการหอบต้องพ่นยา พบสารพิษจากบุหรี่ในปัสสาวะเด็กที่อาศัยในคอนโด แฟลต สูงกว่าตามบ้านถึง 2 เท่า ห่วงหญิงตั้งครรภ์รับควันบุหรี่มือสองสูงถึง 90% ส่งผ่านสารพิษไปถึงทารกในครรภ์ ขอเลิกสูบบุหรี่ในบ้าน เริ่มวันแม่แห่งชาติ ถวายสมเด็จพระราชินี

วันนี้ (9 ส.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แถลงข่าว “วิจัย : สูบบุหรี่ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย” ว่า ควันบุหรี่เมื่อถูกหายใจเข้าสู่ปอด สารพิษในควันบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะไหลเวียนไปยังทุกอวัยวะของร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว สารพิษซึ่งรวมสารก่อมะเร็งยังสามารถผ่านรกไปถึงทารกในครรภ์ได้ สารพิษเหล่านี้บางส่วนจะถูกทำลายโดยตับ ที่เหลือจะถูกขจัดออกทางปัสสาวะ การที่สารพิษและสารก่อมะเร็ง ถูกพาไปสัมผัสกับทุกอวัยวะ เป็นเหตุให้หลอดเลือดเสื่อม เกิดโรคกับอวัยวะทั่วร่างกาย รวมถึงมะเร็ง 12 ชนิด ดังนั้น ในการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว จึงต้องร่วมกันสร้างค่านิยมให้คนไทยไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งนอกจากจะลดอันตรายของควันบุหรี่มือสองในบ้าน ยังทำให้เด็กในบ้านมีความเสี่ยงที่จะติดบุหรี่น้อยลง ผู้สูบบุหรี่จะสูบบุหรี่น้อยลงและเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้นด้วย

พญ.ปองทอง ปูรานิธี อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า จากการตรวจปัสสาวะเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่จำนวน 75 ครอบครัว พบว่า 57 ราย หรือร้อยละ 76 ตรวจพบสารพิษจากควันบุหรี่ หรือโคตินิน ในระดับซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยพบว่า เด็กที่อาศัยในคอนโดมิเนียม  อพาร์ตเมนต์ และ แฟลต มีสารพิษในปัสสาวะสูงกว่าเด็กในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ถึงสองเท่าตัว

พญ.นัยนา ณีศะนันท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า การสำรวจผู้ปกครองที่พาเด็กมาตรวจรักษาที่ รพ.เด็ก ระหว่างเดือน พ.ค.- ก.ย. 2559 จำนวน 1,022 ครอบครัว โดยร้อยละ 96 ของเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่บ้าน พบว่า ร้อยละ 45.6 หรือ 456 ครอบครัวมีสมาชิกที่สูบบุหรี่ ในจำนวนนี้ 101 ครอบครัวหรือ 21.5% สูบในบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย พบว่าเด็กที่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่เป็นหวัดเจ็บคอบ่อย 268 คน เทียบกับ 205 คนในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ และมีอาการหอบเหนื่อยต้องพ่นยา 96 คน ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ เทียบกับ 53 คนในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่ เกิดการเจ็บป่วยมากกว่าเด็กในบ้านที่ไม่มีการสูบบุหรี่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ ภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก กล่าวว่า การสำรวจหญิงตั้งครรภ์ในอำเภอโกรกพระ จ.นครสวรรค์ จำนวน 115 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 97.4 ไม่เคยสูบบุหรี่ และมี 3 คนที่ยังสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ แต่ร้อยละ 90.4 เคยได้รับควันบุหรี่มือสองในรอบ 30 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเวลาหลัง 16.30 น. เป็นต้นไป โดยสถานที่ที่ได้รับควันบุหรี่ 54.3% จากตลาด 48.7% ในบ้านของตนเอง และ 9.6% ในที่ทำงาน ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ 65.2% จะถอยห่างจากคนที่กำลังสูบบุหรี่ 59.1% จะหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มักมีควันบุหรี่ และ 55.7% จะหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ต้องผ่านบริเวณที่มีการสูบบุหรี่เป็นประจำ

ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการสำรวจในวัยรุ่นไทย 1,000 คน พบว่า วัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ห้ามสูบบุหรี่ทุกพื้นที่ สูบบุหรี่ 15.7% ที่อาศัยในบ้านที่ห้ามสูบบุหรี่เพียงบางพื้นที่สูบบุหรี่ 31.4% และที่อาศัยในบ้านที่สูบบุหรี่ได้ทุกพื้นที่ มีอัตราการสูบบุหรี่เท่ากับ 51.8% ขณะที่รายงานจากองค์การอนามัยโลก พบว่า วัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน มีโอกาสติดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.4 ถึง 2.1 เท่า เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้แทนสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ขอเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใจดีทุกฝ่าย ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็กหรือหญิงตั้งครรภ์ เพื่อปกป้องลูกหลานของพวกเราทุกคนให้ปลอดภัยจากควันพิษของบุหรี่ทุกรูปแบบ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช



กำลังโหลดความคิดเห็น