xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้างห้ามเก็บ “เงินประกันทำงาน” มีโทษปรับ 1 แสนบาท เว้น 7 อาชีพนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างเก็บ “เงินประกันทำงาน” จากลูกจ้างไม่ได้ เผย มีแค่ 7 งานที่เรียกเก็บได้ แต่ต้องเรียกเก็บตามกฎหมายกำหนด ผ่านรูปแบบเงินสด ทรัพย์สิน และค้ำประกันบุคคล วงเงินไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงานและหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน ไม่ว่าจะประกันด้วยเงิน ประกันด้วยบุคคล หรือประกันด้วยทรัพย์ เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานไว้ด้วย เช่น ลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างจะเรียกเก็บหรือรับหลักประกันการทำงานได้ อาทิ งานสมุห์บัญชี งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน เป็นต้น ประเภทของหลักประกันการทำงาน จำนวนเงิน ตลอดจนวิธีการเก็บรักษา จึงขอให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกเก็บหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ได้ระบุลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างจะเรียกเก็บหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ได้แก่ 1. งานสมุห์บัญชี 2. งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน 3. งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาว และไข่มุก 4. งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง 5. งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน 6. งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ และ 7. งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

หลักประกันการทำงานหรือความเสียหายมี 3 ประเภท ได้แก่ เงินสด ทรัพย์สิน และการค้ำประกันด้วยบุคคล โดยหากเป็นเงินสดจำนวนที่นายจ้างเรียกเก็บต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ โดยนายจ้างต้องนำฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับเงินประกัน ส่วนกรณีทรัพย์สิน แบ่งเป็น สมุดเงินฝากประจำธนาคาร และหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ซึ่งต้องมีมูลค่าไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเช่นกัน และกรณีค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันเช่นกัน และนายจ้างต้องทำหนังสือสัญญาค้ำประกันสามฉบับสำหรับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ค้ำประกันเก็บไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น