xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ สร้างอาคารจัดแสดง “เครื่องทองอยุธยา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองเก่าของเราในสมัยก่อนนั้น มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญๆ จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นร่องรอยอารยธรรมสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

แน่นอนใครที่มาเยือนพระนครศรีอยุธยา จะต้องมาชมโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และอีกสถานที่แห่งหนึ่งไม่ควรพลาด นั่นก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จัดแสดงนิทรรศการประวัติพระนครศรีอยุธยา และผู้มาเยือนจะตื่นตากับเครื่องทอง สมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน ที่แต่ละชิ้นล้วนวิจิตรงดงาม

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบวงสรวง และวางศิลาฤกษ์อาคารจัดแสดงเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และผู้บริหาร ข้าราชการ ประชาชน ร่วมพิธีจำนวนมาก

นายวีระ กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นพิพิธภัณฑสถานภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2504 มีการจัดแสดงโบราณวัตถุล้ำค่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องทองอยุธยา

เนื่องจากเดือนกันยายน 2500 ได้มีผู้ร้ายกลุ่มหนึ่งลักลอบขุดกรุพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ และได้เครื่องทองไปเป็นจำนวนมาก ท้ายที่สุดตำรวจสามารถจับกุมผู้ร้ายกลุ่มนั้นไว้ได้ ขณะที่ทางกรมศิลปากรเองได้เข้าขุดค้นกรุพระปรางค์ต่อจากคนร้ายและได้พบเครื่องทองอีกจำนวนหนึ่ง

ข่าวการพบเครื่องทองซึ่งประมาณว่ามีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัมนี้ ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรเครื่องทองดังกล่าว ณ กองกำกับการตำรวจภูธร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2500 โดยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการบูรณะและการเก็บรักษาโบราณวัตถุเป็นความสำคัญหลายประการ ที่สำคัญยิ่งคือ

“ควรเก็บรักษาทรัพย์เหล่านี้ไว้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่ที่ค้นพบ ไม่ควรนำไปไว้ที่จังหวัดอื่น เพราะจะได้ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้สร้างและประชาชนชาวอยุธยาจะได้รู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของทรัพย์เหล่านั้นด้วย”

หลังจากนั้น อีก 1 ปีต่อมา เดือนพฤศจิกายน 2501 ขณะที่กรมศิลปากรทำอุโมงค์บันไดสำหรับให้ประชาชนลงไปชมภาพเขียนในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ก็ได้พบกรุบริวารเพิ่มเติม ภายในบรรจุพระพิมพ์อีกนับแสนองค์ จึงได้นำพระพิมพ์ออกให้ประชาชนเช่าบริจาคและนำเงินที่ได้มาจัดสร้างพิพิธภัณฑสถาน และได้ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์ตามพระนามของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสถาปนาวัดราชบูรณะ เมื่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2504

นายวีระ กล่าวว่า กรมศิลปากร ดำเนินการสร้างอาคารไทยประยุกต์ 2 ชั้น ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้างและตกแต่งนิทรรศการประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ได้วางแนวทางการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตสู่ประชาคมอาเซียน จัดแสดงเครื่องทองอยุธยา นำเสนอโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประเภทเครื่องทองสมัยอยุธยาที่ค้นพบทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องทองอยุธยามารวบรวมไว้ที่อาคารหลังใหม่ ที่สำคัญ จะมีการพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต้นแบบ ที่สำคัญจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยทั้งในด้านเทคโนโลยีและศักยภาพในการดูแลโบราณวัตถุให้มีความปลอดภัยในระดับสูง

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวเสริมว่า สำหรับอาคารจัดแสดงเครื่องทองหลักใหม่จะแบ่งส่วนพื้นที่ชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว ส่วนพื้นที่ชั้นบนทั้งหมดเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร ซึ่งมีเนื้อหาจัดแสดงหลักด้วยกัน 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาและทองคำ รวมถึงเครื่องทองที่พบในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนที่ 2 จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุที่พบในโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดพระศรีสรรเพชญ์ ส่วนที่ 3 จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับวัดราชบูรณะและเครื่องทองที่พบในกรุพระปรางค์ และส่วนที่ 4 จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องทองสมัยอยุธยาที่พบในแหล่งโบราณคดี และโบราณสถานต่างๆ ในประเทศไทย

นอกจากสร้างอาคารจัดแสดงหลังใหม่เพื่อจัดแสดงเครื่องทองสมัยอยุธยาแล้ว กรมศิลปากร ยังมีนโยบายปรับปรุงอาคารหลังเดิมของพิพิธภัณฑ์ พร้อมปรับภูมิทัศน์ภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยแบ่งการดำเนินเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่1 ศึกษาและจัดทำบทจัดแสดงนิทรรศการเครื่องทอง และดำเนินการจัดสร้างอาคารเครื่องทอง

ระยะที่ 2 ปรับปรุงอาคารจัดแสดงหลังที่ 1 เพื่อจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงอาคารจัดแสดงหลังที่ 2 เป็นคลังของพิพิธภัณฑ์ ระยะที่ 3 ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด

“รูปแบบการจัดแสดงกำหนดให้มีเนื้อหาเน้นเรื่องเครื่องทองอยุธยา รวมถึงเครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ และเรื่องพระบรมสารีริกธาตุ มาเป็นสื่อจัดแสดงร่วมกับสื่อจัดแสดงสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์หลังเดิมเชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ โดยจะเป็นพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุประเภทประติมากรรมอยุธยาและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานสากล มีความพร้อมทั้งด้านการอนุรักษ์ สงวนรักษาโบราณวัตถุศิลปวัตถุ และการจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่ทันสมัยและน่าสนใจให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะจัดสรรพื้นที่จัดทำห้องประชุม และพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมด้วย” นายอนันต์ กล่าว

…ไม่เกิน 2 ปี พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา จะสร้างแล้วเสร็จและเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องทองให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา รวมไปถึงประชาคมอาเซียนด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น