xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ย้ำ รพ.ใน 30 จังหวัด ฝนตกหนัก ทำตามแผนรับมือน้ำท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.สธ. เผย สกลนคร มี รพ. เสียหายจากน้ำท่วม 5 แห่ง แต่ยังให้บริการทางการแพทย์ได้ เร่งเฝ้าระวังควบคุมโรคหลังน้ำลด พร้อมฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ ย้ำ 30 จังหวัดพื้นที่ฝนตกหนัก 4 - 6 สิงหาคม นี้ ปฏิบัติตามแผนรับน้ำท่วม

วันนี้ (4 ส.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบน้ำท่วม จังหวัดสกลนคร ที่โรงพยาบาลพังโคน และโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร พร้อมมอบสิ่งของ ยาสามัญประจำบ้าน ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยและนอนพักรักษาอาการป่วย ว่า วันนี้มาเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เสียสละทำงานดูแลช่วยเหลือประชาชนในภาวะยากลำบาก ขอชื่นชมการบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่ร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด/ผู้อำนวยการโรงพยาบาล วางแผนการจัดบริการผู้ประสบภัยให้ครอบคลุม และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการในพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงบริการลำบาก เน้นดูแลกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขและหน่วยงานในท้องถิ่น

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับจังหวัดสกลนครมีหน่วยบริการได้รับความเสียหายรวม 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร เปิดให้บริการได้เฉพาะผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลพังโคน และโรงพยาบาลโคกศรีสุพรรณ เปิดให้บริการได้ตามปกติ ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2 แห่ง ย้ายไปให้บริการในจุดที่ประชาชนเข้าถึงสะดวก คือ รพ.สต.บ้านกลาง ให้บริการที่วัดโนนสวรรค์ และ รพ.สต.โพนแพง ให้บริการที่ศาลาประชาคมบ้านโพนแพง ทั้งนี้ ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการที่ศูนย์พักพิงและครอบคลุมทุกพื้นที่ ในพื้นที่น้ำท่วมสูงได้จัดเรือท้องแบนออกให้บริการประชาชนถึงบ้าน ทั้งตรวจรักษา ให้คำปรึกษา ควบคุมป้องกันโรค การปรับปรุงสุขาภิบาลหลังน้ำลด รวมทั้งได้สำรวจจัดทำทะเบียนผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ติดต่อสอบถามอาการทุกวัน กรณีมีโรคแทรกซ้อนจะส่งทีมสหวิชาชีพดูแลช่วยเหลือถึงบ้าน โรคที่มารักษาส่วนใหญ่ คือ น้ำกัดเท้า 386 คน ไข้หวัด 122 คน และให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

“สำหรับระยะฟื้นฟู มีการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคที่มาหลังน้ำลด หรือน้ำท่วมขัง เช่น ท้องเสีย ฉี่หนู รวมทั้งฟื้นฟูสภาพจิตใจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนเร่งการจัดการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ปรับปรุง ฟื้นฟูเพื่อจัดบริการพื้นฐาน เช่น ล้างบ่อน้ำ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ การจัดการขยะ ล้างตลาด เป็นต้น และฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข และวางแผนออกแบบป้องกันสถานบริการในระยะยาว” นพ.ปิยะสกล กล่าวและว่า ในวันที่ 4 - 6 ส.ค. นี้ ขอให้หน่วยงานในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนัก 30 จังหวัด ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้ 1. ติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2. วางแผนป้องกันน้ำท่วม เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ สำรองน้ำมัน 3. แผนการจัดบริการผู้ป่วย ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา - เวชภัณฑ์ ไว้ที่ปลอดภัยและสำรองให้เพียงพอ สำรวจระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ ให้พร้อมใช้งานหากไฟดับ 4. สำรวจเส้นทางการขนย้าย เตรียมจัดบริการตรวจรักษานอกโรงพยาบาล กรณีน้ำท่วมโรงพยาบาลหรือท่วมเส้นทางเดินทางเข้าออกลำบาก




กำลังโหลดความคิดเห็น