ข้อสรุปบูรณะ “ถ้ำเขาหลวง” กรมศิลป์ต้องนำอิฐ - กระเบื้องโบราณที่รื้อออกไปกลับมาปูคืน พร้อมชะลอปิดทองพระพุทธรูป เหตุยังไม่จำเป็น ย้ำต้องรักษาสภาพเดิมให้มากที่สุด ท้วงกรมศิลป์ตั้งงบ 7 ล้านบาท ติดไฟภายในถ้ำ หวั่นเสียจุดเด่น “ปล่องแสงจากฟ้า”
นายกฤษดากร อินกงลาศ ช่างเขียนลายไทย ครูช่างรุ่นใหม่เพชรบุรี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒน ธรรมเมืองเพชร กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องการบูรณะถ้ำเขาหลวง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ของกรมศิลปากร ว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการดูแลตรวจสอบการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชน กับตัวแทนจากกรมศิลปากร โดยที่ประชุมมีมติให้กรมศิลปากรต้องนำอิฐและกระเบื้องโบราณที่ถูกกรมศิลป์รื้อออกไปที่ยังอยู่ในสภาพดี กลับมาปูพื้นคืนตามเดิมทั้งหมด โดยต้องลงมือทำทันที นอกจากนี้ ยังมีมติให้ชะลอการบูรณะปิดทององค์พระพุทธรูปออกไปก่อน เพราะไม่มีความจำเป็น ยกเว้นองค์พระที่กรมศิลป์ได้ขัดผิวไว้แล้ว โดยขอให้มีการปิดทองด้วยกรรมวิธีโบราณและไม่ใช้ทองที่มีความวาวมากเกินไป เพราะไม่เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของถ้ำเขาหลวง ทั้งนี้ จะมีการประชุมกันอีกครั้งเพื่อดูรายละเอียดของแผนบูรณะทั้งหมดในวันที่ 7 ส.ค. นี้
“อิฐเก่าโบราณที่ถูกรื้อไว้แต่ยังไม่ได้ถูกนำไปทิ้งเหลือประมาณ 200 ก้อน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำอิฐโบราณที่อยู่ในสภาพดีกลับมาปูพื้นคืนตามเดิมประมาณ 10 - 15 ตารางเมตร โดยจัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ไว้อย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่เหลือจะผสมกันระหว่างอิฐโบราณและอิฐใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าอิฐเหล่านี้ คงทนกว่าอิฐใหม่ที่กรมศิลป์นำมาใช้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม อาจมีปัญหาเรื่องความไม่เท่ากันของขนาดของอิฐ เพราะอิฐโบราณจะมีขนาดใหญ่และหนากว่า ซึ่งไม่ทราบว่ากรมศิลป์จะทำอย่างไรให้พื้นเสมอกัน” นายกฤษดากร กล่าว
นายกฤษดากร กล่าวว่า สิ่งที่ทางกลุ่มเรียกร้องต่อกรมศิลป์ คือ การทำให้ถ้ำเขาหลวงคงอยู่ในสภาพ เดิมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทั้งอิฐและกระเบื้องโบราณ เพราะโบราณวัตถุเหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอิฐโบราณที่คนเพชร เรียกว่า “อิฐห้าร้อย” ซึ่งเป็นตำนานของถ้ำแห่งนี้ที่ชาวบ้านสมัยนั้นใช้ภูมิปัญญาในการสร้างจากวัสดุจากธรรมชาติ เพื่อความแข็งแรงคงทนจนถึงปัจจุบันที่มีอายุนับร้อยปี ผิดกับอิฐสมัยใหม่ที่กรมศิลป์ใช้ เชื่อว่า คงไม่สามารถอยู่ได้เป็นร้อยปี เพราะเท่าที่ดูเห็นได้ว่าอิฐใหม่ที่ปูได้แค่เดือนกว่าๆ ก็มีแตกแล้ว ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ต้องติดตาม ดูกันต่อไปว่ากรมศิลป์จะทำอย่างไรให้อิฐภายในถ้ำมีสภาพเป็นเหมือนเดิมหรือไม่
นายกฤษดากร กล่าวว่า อีกเรื่องที่ทางกลุ่มกังวล คือ เรื่องที่กรมศิลป์ต้องการติดไฟภายในถ้ำ โดยใช้งบประมาณสูงถึง 7 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากและคงเป็นไฟที่อลังการ เกรงว่าจะทำให้ถ้ำเขาหลวงเสียสมดุลธรรมชาติ การติดไฟในถ้ำถือว่าไม่มีความจำเป็น เพราะถ้ำเขาหลวงมีความสวยงามจากแสงอาทิตย์ที่สาดผ่าน “ปล่องแสง” ลงมาสู่ลานภายในถ้ำ ถือเป็นความงามตามธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของถ้ำเขาหลวง ที่มีความเป็นธรรมชาติและมีความขลัง เราอยากรักษาความสวยงามตรงนี้เอาไว้ ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกันถือว่า ข้อเรียกร้องภาคประชาชนทุกเรื่องได้รับการตอบสนอง รวมถึงการยอมรับผิดของกรมศิลป์ด้วย ซึ่งควรเอาไว้เป็นตัวอย่างว่าเวลาที่กรมศิลป์จะบูรณะโบราณสถานที่ไหนต้องมีการศึกษาและพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ก่อน เพื่อที่จะเข้าใจภาพต่างๆ มากขึ้น ไม่ใช่มาทำงานแล้วต้องให้ชาวบ้านคัดค้าน