xs
xsm
sm
md
lg

จาก “ไข่ไก่” สู่ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ส่องเส้นทางการผลิตเองแห่งแรกของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ใกล้ความเป็นจริงเข้าไปทุกทีกับ “โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่” แห่งแรกของประเทศ ตั้งอยู่ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ดำเนินการโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แม้จะล่าช้าจากแผนกำหนดการเดิมมากว่า 5 ปี จากการแก้ปัญหาฐานรากของโรงงาน การป้องกันน้ำท่วม รวมไปถึงการปรับแบบให้รองรับการผลิตวัคซีนได้ทั้งแบบชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย

โดยขณะนี้ตัวโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จ และติดตั้งระบบสนับสนุนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการสอบคุณภาพระบบต่างๆ ของกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ส่วนเทคนิคการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย อยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งกระบวนการทุกอย่างจะแล้วเสร็จในปี 2562 คาดว่า จะเริ่มผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยได้เองในปี 2563

สำหรับเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น ยังคงใช้เทคนิคในการขยายเชื้อไวรัสใน “ไข่ไก่” ก่อนที่จะเก็บเชื้อมาบรรจุทำเป็นวัคซีน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทาง อภ. ระบุว่า ยังคงทันสมัยไปอีกกว่า 10 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ก.ค.- 1 ส.ค. ที่ผ่านมา MGROnline มีโอกาสได้เข้าไปศึกษาขั้นตอนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่การเลี้ยงไก่ จนได้ไข่ไก่ที่ปลอดเชื้อพอสำหรับการนำมาขยายเชื้อไวรัส ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวและนำเชื้อไปทำให้บริสุทธิ์ ก่อนที่จะบรรจุเพื่อผลิตเป็นวัคซีนในการใช้ดูแลสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ

ไข่ไก่ปลอดเชื้อสำหรับการผลิตวัคซีน

เดิมทีการผลิตวัคซีนต่างๆ ที่ต้องใช้ “ไข่ไก่” ในการผลิตนั้น จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้องใช้เวลาในการขนส่งกว่าจะนำมาผลิตวัคซีนได้อย่างน้อย 2 - 7 วัน ซึ่งระยะเวลาที่มากขึ้นจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ไข่มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการผลิตไข่ปลอดเชื้อเพื่อการผลิตวัคซีนในประเทศ โดยบริษัท ไทย เอสพีเอฟ จำกัด ถือเป็นผู้ผลิตไข่ปลอดเชื้อเฉพาะเชิงพาณิชย์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการผลิตวัคซีนให้แก่ อภ.

นายจิรวัฒน์ เกิดพาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอสพีเอฟ จำกัด กล่าวว่า ระยะทางจากฟาร์มไก่สู่โรงงานวัคซีนควรอยู่ในรัศมีไม่เกิน 120 กิโลเมตร หรือเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง ต้องไม่มีความเสี่ยงเรื่องปัญหาน้ำท่วม ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่มาทางอากาศ และห่างไกลจากฟาร์มสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ และชุมชน บริษัทฯ จึงเลือกตั้งฟาร์มหรือโรงเรือนเลี้ยงไก่เพื่อผลิตไข่ไก่ปลอดเชื้อเฉพาะ (SPF) ที่ ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก เนื่องจากระยะทางห่างจากโรงงานวัคซีนเพียง 72 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่สูง ปลอดภัยจากการเกิดน้ำท่วม มีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้านเป็นแนวกำแพงธรรมชาติ และมีการซื้อที่ดินเปล่ากว่า 70 ไร่ ด้านหน้าฟาร์ม เพื่อให้ห่างไกลจากฟาร์มสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ และชุมชน
ส่องไฟเพื่อตรวจคุณภาพไข่ไก่ปลอดเชือ้เฉพาะ
สำหรับการผลิตไข่ไก่ปลอดเชื้อเฉพาะ นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า จะใช้ไข่ไก่เปลือกสีขาว เนื่องจากในขั้นตอนการส่องไฟเพื่อตรวจสอบคุณภาพและความสมบูรณ์ของไข่ไก่จะเห็นได้ชัดเจน หากเป็นเปลือกสีน้ำตาลจะเห็นไม่ชัด ดังนั้น ไก่ที่เลือกนำมาเลี้ยงจึงเลือกสายพันธุ์ “White Leghorn” โดยเริ่มแรกได้นำเข้าไก่สายพันธุ์ดังกล่าวตั้งแต่ยังเป็นไข่มาจากสหรัฐอเมริกามาเพาะเลี้ยง ซึ่งขณะนี้ไก่มีสถานะปลอดเชื้อไม่น้อยกว่า 3 รุ่นแล้ว แต่เมื่อสหรัฐอเมริกามีปัญหาไข้หวัดนกระบาด จนไม่สามารถนำเข้าส่งออกได้ จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ที่เพาะเลี้ยงให้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีคุณภาพเป็นพิเศษตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกาและยุโรป

สำหรับการเลี้ยงไก่จะอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพสูงสุด มีการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้อยู่ในสภาวะปลอดเชื้อตลอดระยะเวลาในการเลี้ยง โดยใช้ระบบกรองอากาศด้วย HEPA Filter และปรับความดันอากาศให้สูงกว่าความดันอากาศภายนอก ที่จะช่วยป้องกันเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม และสัตว์พาหะต่างๆ นอกจากนี้ ยังควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสง สี เสียง ให้เหมาะสมกับความต้องการของไก่ในแต่ละวัยเพื่อให้ไก่มีความสุขสบายและสุขภาพที่ดี ขณะที่กรงไก่จะไม่ติดพื้น เพื่อให้ไก่ไม่สัมผัสกับขี้ไก่ ส่วนวัสดุและอุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่ต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค โดยไม่มีการนำออกมาภายนอกโรงเรือน ส่วนบุคลากรเลี้ยงดูไก่ ต้องผ่านขั้นตอนการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย 2 ครั้ง ก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยงไก่ มีชุดปฏิบัติงานเตรียมพร้อมอยู่ภายใน ซึ่งจะซักและอบแห้งอยู่ภายใน ไม่มีการนำออกมาภายนอก และการเลี้ยงไก่จะไม่มีการให้ยารักษาโรคหรือวัคซีนใดๆ เพื่อให้ไก่ปลอดเชื้อและได้ไข่ไก่ที่ปลอดเชื้อเฉพาะจริงๆ” นายจิรวัฒน์ กล่าว

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า รอบของการเลี้ยงไก่ปลอดเชื้อเฉพาะใช้เวลา 63 สัปดาห์ แบ่งเป็นช่วงฟักไข่ 3 สัปดาห์ ช่วงก่อนให้ผลผลิตคือลูกไก่จนถึงแม่ไก่ ช่วงให้ผลผลิต โดยแม่ไก่ที่ให้ไข่ที่มีความสมบูรณ์และคุณภาพพร้อมผลิตวัคซีนคือ แม่ไก่อายุ 24 - 55 สัปดาห์ โดยไข่ที่ผลิตออกมาในแต่ละวันจะผ่านกระบวนการ ตรวจสอบคุณภาพ เริ่มจากชั่งน้ำหนักไข่ ล้างทำความสะอาด ส่องไฟคัดแยกไข่ที่ผิดปกติออก แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำที่ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่อุณหภูมิน้ำ 100 องศาฟาเรนไฮต์ เป่าแห้ง และคัดแยกไข่ตามขนาดน้ำหนัก

จากนั้นจะส่องไฟอีกครั้งเพื่อเช็กความสมบูรณ์ เช่น รูปร่าง รูปทรง ผิวเปลือกไข่ สี ตำแหน่งถุงอากาศในฟองไข่ เป็นต้น แล้วจึงนำไข่ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพไปเก็บรักษาในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ คือ 17 - 19 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 75 - 85% เพื่อรักษาสภาพตัวอ่อนภายในไข่ให้สมบูรณ์ที่สุด เก็บไม่เกิน 7 วันก่อนจัดส่ง ซึ่งการจัดส่งจะมีการฆ่าเชื้อด้วยการอบโอโซน และปรับอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่ลูกค้าระบุ ก่อนลำเลียงเข้ารถห้องเย็น เส้นทางการเดินทางถูกวางแผนล่วงหน้า คำนึงถึงระยะทาง สภาพถนน และการจราจร เพื่อให้ไข่เกิดการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด

เพาะเชื้อไวรัสในไข่ไก่

สำหรับขั้นตอนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากไข่ไก่นั้น นายพิฑูรย์ เหล่าวิวัฒน์ ผอ.กองผลิตชีววัตถุ อภ. อธิบายว่า เมื่อไข่เดินทางจากฟาร์มมาถึงโรงงานจะทำการเข้าตู้อบฆ่าเชื้อก่อนประมาณ 5 ชั่วโมง เพราะระหว่างการขนส่งอาจเกิดการปนเปื้อนได้ จากนั้นเก็บรักษาไว้ 1 วัน จึงเข้าสู่กระบวนการฟักไข่ ซึ่งในโรงงานมีเครื่องฟักไข่ 9 เครื่อง ซึ่งการฟักไข่จะควบคุมอุณหภูมิที่ 37.5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 65% และจะมีการพลิกไข่อัตโนมัติทุก 1 ชั่วโมง เหมือนกับการกกไข่จริงของแม่ไก่ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 11 วัน เพื่อให้ไข่อยู่ในระยะที่สามารถใช้ผลิตวัคซีนได้ โดยจะมีการส่องไฟเพื่อตรวจสอบว่า ตัวอ่อนในไข่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะต้องใช้ไข่ที่ยังมีตัวอ่อนอยู่ จากนั้นจึงส่งไข่ไปยังส่วนของการฉีดเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงให้เชื้อไวรัสภายในไข่ไก่ โดยโรงงานจะมีห้องเก็บเชื้อไวรัสเฉพาะ ซึ่งการผลิตก็จะนำเชื้อมาฉีดใส่ไข่ตามสายพันธุ์ที่ต้องการผลิตวัคซีน โดยไข่ 1 ฟองจะฉีดไวรัสเพียง 1 สายพันธุ์เท่านั้น
การฟักไข่ที่มีควบคุมอุณหภูมิและความชื้น โดยมีการพลิกไข่ทุก 1 ชั่วโมง
หลังจากฉีดเชื้อแล้วจะฟักไข่อีก 2 วัน เพื่อให้เชื้อเพิ่มจำนวน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเก็บเชื้อไวรัส โดยจะนำไข่ไก่ไปฟรีซที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส 1 วัน จากนั้นจึงตัดเปลือกไข่ด้านบนแล้วดูดน้ำเลี้ยงรอบตัวอ่อนที่มีเชื้อไวรัสออกมาและนำไปทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งตรงนี้มีหลายขั้นตอน แต่โดยรวมแล้วใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน โดยหากเป็นการผลิตวัคซีนเชื้อเป็นเพื่อรองรับการผลิตขณะเกิดการระบาดก็จะนำไปบรรจุทำวัคซีนเลย เนื่องจากเชื้อทำให้อ่อนฤทธิ์มาแล้วตั้งแต่ต้น แต่หากเป็นการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตายก็จะฆ่าเชื้อให้ตายโดยฟอร์มาลีน และนำไวรัสแต่ละสายพันธุ์มาผสมรวมกันเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเป็น 4 สายพันธุ์ โดยการกำหนดสายพันธุ์ไวรัสที่จะทำวัคซีนแต่ละปีอยู่ที่องค์การอนามัยโลก ซึ่งจะประกาศตั้งแต่ช่วง ม.ค. - ก.พ.” นายพิฑูรย์ กล่าว
การส่องผงเพื่อตรวจสอบคุณภาพวัคซีน ก่อนติดฉลากและบรรจุหีบห่อ
นายพิฑูรย์ กล่าวว่า หลังจากบรรจุวัคซีนลงขวด จะเข้าสู่ขั้นตอนการส่องผง ซึ่งจะมี 9 กล้องในการตรวจจับทั้งผงขาว ผงดำ และผงสะท้อนแสง เพราะผงขนาดเพียง 1 ไมครอน หากหลุดรอดไปแล้วฉีดเข้าร่างกาย ก็สามารถเข้าไปอุดตันเส้นเลือดในสมองให้เสียชีวิตได้ ซึ่งตาเปล่ามนุษย์สามารถมองผงได้ขนาด 50 ไมครอน แต่เครื่องจะสามารถตรวจจับได้ประมาณ 30 ไมครอน จากนั้นจะเข้าสู่การติดฉลากและบรรจุลงหีบห่อ โดยสามารถผลิตได้ 60 กล่องต่อนาที หรือ 18,000 ขวดต่อชั่วโมง โดย 1 ขวด จะอยู่ที่ประมาณ 2 - 4 โดส ส่วนการบรรจุแบบไซริงก์หรือเข็มฉีดยาจะอยู่ที่ 1 โดส โดยโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จ.สระบุรี สามารถผลิตได้ปีละ 2 ล้านโดส และขยายกำลังการผลิตเมื่อเกิดการระบาดได้ถึง 10 ล้านโดส

ทั้งหมดคือ กระบวนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครบวงจรแห่งแรกของประเทศ ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของประเทศ เพราะหากเกิดการระบาดประเทศไทยก็สามารถผลิตวัคซีนเพื่อดูแลคนในประเทศได้ ไม่ต้องรอการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ

โรงเรือนเลี้ยงไก่
ภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ




จัดเก็บไข่ก่อนส่องไข่เพื่อตรวจคุณภาพ




วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบขวด


กำลังโหลดความคิดเห็น